มจธ. ส่ง FIBO – ศูนย์ Login ยกระดับหุ่นยนต์ CARVER ปฏิรูปโลจิสติกส์โรงพยาบาล



มจธ. ส่ง FIBO – ศูนย์ Login รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเศรษฐกิจดิจิทัล ยกระดับหุ่นยนต์ CARVER ปฏิรูปโลจิสติกส์โรงพยาบาล ลดปัญหาแออัด เพิ่มความแม่นยำในการขนส่ง

ศูนย์วิจัยระบบอัตโนมัติภายในโรงพยาบาล (HAC, Hospital Automation Research Center) สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO, Institute of Field Robotics) ต่อยอดนวัตกรรมหุ่นยนต์ CARVER Mini ที่เคยนำไปใช้ในโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สู่การพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติในชุด CARVER-AMR ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยศาสตร์ของโลจิสติกส์ เพื่อยกเครื่องระบบโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลแบบครบวงจร

โดยร่วมมือกับศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม (GMI) มจธ. มาวิจัยโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลทั้งระบบ เพื่อออกแบบโซลูชันโลจิสติส์และหุ่นยนต์ (Robotics) ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ปัญหา และความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล

ด้วยเป้าหมายลดความผิดพลาด ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มขีดความสามารถด้านบริการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่รวดเร็วและลดความแออัด นำไปสู่การสร้าง Smart Hospital ด้วยโซลูชันที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละโรงพยาบาล และใช้ประโยชน์ได้จริง

ทั้งนี้ โครงการยังเปิดรับโรงพยาบาลที่สนใจนำหุ่นยนต์ CARVER-AMR ไปทดสอบ พร้อมออกแบบโซลูชันโลจิสติกส์ที่เหมาะสมในโรงพยาบาล

ผศ.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยระบบอัตโนมัติภายในโรงพยาบาล (HAC@FIBO) และหัวหน้าทีมผู้พัฒนาหุ่นยนต์ CARVER กล่าวว่า ปีนี้โครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ CARVER ได้รับทุนวิจัยจากกองทุนเศรษฐกิจดิจิทัล มาต่อยอดพัฒนาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (Mobile Robot)


เพื่อนำมาใช้งานในโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถขนส่งของหนักขนาดใหญ่ในโรงพยาบาลได้ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบความสามารถพื้นฐานของหุ่นยนต์ และการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ในโรงพยาบาล

ปัจจุบันหุ่นยนต์ CARVER-AMR กำลังทดสอบอยู่ในโรงพยาบาล 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลตำรวจ, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

การทดสอบ CARVER-AMR ในโรงพยาบาลขณะนี้เป็นการทดสอบความสามารถพื้นฐานของหุ่นยนต์ การวางแผนที่การเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ในโรงพยาบาลว่า สามารถขนส่งของขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมากไปในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างไร

เช่น พื้นที่ที่มนุษย์เข้าได้ หุ่นยนต์ต้องเข้าได้ เช่นเดียวกับพื้นที่ที่รถวิลแชร์เข้าได้ หุ่นยนต์ก็ควรเข้าได้ แต่มีพื้นที่ที่ยังเป็นข้อจำกัดอยู่ อย่างบางพื้นที่ในโรงพยาบาลที่มีธรณีประตูสูงๆ อาจเข้าไม่ได้ หรือ ทางลาด 7 องศา ก็จะเริ่มมีผลต่อการเคลื่อนที่ ซึ่งนี่คืออุปสรรคที่หุ่นยนต์ต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้” ผศ.สุภชัย อธิบาย

การนำหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติไปใช้งานในโรงพยาบาล จะพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ เป็นงานที่สกปรก เป็นงานที่อันตราย และเป็นงานที่ทำซ้ำๆ

ตัวอย่างจากการนำหุ่นยนต์ CARVER Mini เข้าไปใช้ในโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลผู้ช่วยโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นการนำไปใช้ในกิจกรรมที่เสี่ยงต่อโรค สกปรก และอันตราย ขณะเดียวกันการขนส่งอาหารและยา ก็เป็นกิจกรรมที่ทำซ้ำๆ และต้องทำวันละหลายๆ รอบ จึงเหมาะสมกับการนำหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้าไปใช้งาน


ทั้งนี้ การพัฒนาหุ่นยนต์ CARVER-AMR เป็นการใช้งานเพื่อเสริมศักยภาพทั้งระบบของโรงพยาบาล เป้าหมายคือยกระดับโรงพยาบาลไทยให้เป็น Smart Hospital

โลจิสติกส์จึงเข้ามามีบทบาทในการออกแบบการเคลื่อนที่ของสรรพสิ่งทั้งระบบในโรงพยาบาลเพื่อลดความสูญเปล่า ใช้ประโยชน์จากความสามารถของบุคลากรได้อย่างเต็มที่ และเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานด้วยหุ่นยนต์

ด้าน ผศ.กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ หรือ ล็อกอิน (Login) กล่าวว่า การนำโลจิสติกส์เข้ามาประกอบกับงานวิจัยจะช่วยให้การออกแบบหุ่นยนต์นั้นสมจริง นำไปใช้งานได้จริง

 เนื่องจากโลจิสติกส์จะสามารถบอกได้ว่าหุ่นยนต์จำเป็นต้องทำอะไรบ้าง และควรเพิ่มความสามารถด้านใด เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของบุคลากร คนไข้ และข้อจำกัดต่างๆ เช่น พื้นที่ งบประมาณ ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาล

“ยกตัวอย่าง การพัฒนาห้องยาอัตโนมัติ จะไม่สามารถนำหุ่นยนต์เข้าไปใช้งานทันทีได้ เนื่องจากต้องเข้าใจก่อนว่าข้อจำกัดและขั้นตอนการทำงานของห้องยาเป็นอย่างไร

ตั้งแต่รับใบยา ตรวจสอบใบยา จัดยาตามใบยา ตรวจสอบรายการยา ก่อนจ่ายยาให้กับคนไข้ แล้วเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้งาน โดยพิจารณาทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะบางขั้นตอน

หรือบางกิจกรรมเท่านั้น ดังนั้น นักโลจิสติกส์จึงจำเป็นมากในการช่วย System Integrator ในการออกแบบหุ่นยนต์ ระบุประเภทและจำนวนหุ่นยนต์ที่เหมาะสม เพื่อให้การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล และโรงพยาบาลได้ประโยชน์จริง” ผศ.กานดา อธิบายเสริม

หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกแบบกระบวนการโลจิสติกส์ยังช่วยให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งควรพัฒนา และนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับใดมาใช้

เช่น โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่มีคนไข้เข้ามาพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก มีความแออัดมาก  อาจพัฒนาไปถึงระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ แต่หากเป็นโรงพยาบาลที่ขนาดเล็กลงมา อาจใช้ระบบกึ่งอัตโนมัติก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารว่าต้องการให้โรงพยาบาลไปในทิศทางใด


ผศ.วรพจน์ อังกสิทธิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม (GMI) กล่าวว่า หัวใจสำคัญของโลจิสติกส์ คือ การทำอย่างไรให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด ได้ปริมาณงานมากที่สุด

ขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามีบทบาทในอุตสาหกรรมไทยอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต ขณะที่การบริการ ก็เริ่มเห็นการนำหุ่นยนต์มาใช้มากขึ้น เช่น โรงแรม, สนามบิน

ทั้งนี้ ก่อนที่จะนำเทคโนโลยีใดเข้ามาใช้ โลจิสติกส์จะเป็นตัวช่วยศึกษาว่าการทำงานทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ดีเยี่ยมอยู่แล้วหรือไม่ หากยังมีช่องว่าง หรือความสูญเสีย จะสามารถระบุได้ว่าเป็นเรื่องใดควรปรับแก้ไข ก่อนที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้

บทบาทของศูนย์วิจัยโลจิสติกส์จะเข้ามาช่วยดูว่าหุ่นยนต์ควรทำงานรูปแบบใด ความเหมาะสมของการใช้งานหุ่นยนต์ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การวางผังการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ การจัดจำนวนของหุ่นยนต์ว่าควรใช้เท่าไหร่

โลจิสติกส์สามารถบอกได้เลยว่ากิจกรรมนี้ หรือ งานนี้จำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์จำนวนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการทำงานทั้งระบบคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และแม่นยำมากขึ้น ผสมผสานกับหุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาให้เหมาะสมกับการใช้งานและพื้นที่ปฎิบัติงาน” ผศ.วรพจน์ กล่าว

การนำหุ่นยนต์มาใช้งาน ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อการทดแทนแรงงาน แต่เป็นการเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ทวีคูณ เช่น ปัจจุบันการทำงานในพื้นที่อาจทำแล้วได้งานเพียง 80% เนื่องจากมีความสูญเสียเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน

กระบวนการโลจิสติกส์จะมาดูว่าเกิดสูญเสียอะไรบ้าง และแก้ไขได้อย่างไร เพื่อให้การทำงานทำได้เต็ม 100% ขณะเดียวกันก็ค้นหาว่ามีกระบวนการไหนที่จะนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานจาก 100% เพิ่มขึ้นเป็น 200% หรือ 300%

ทั้งนี้ การนำหุ่นยนต์ และระบบโลจิสติกส์เข้ามาใช้ในโรงพยาบาล จะช่วยในการจัดระบบ จัดคิว จัดกำลังคนให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วย การทำงานของโรงพยาบาลก็จะดีขึ้น เร็วขึ้น เวลาที่ผู้ป่วยรอคอยภายในโรงพยาบาลก็จะลดลง ประสิทธิภาพการรักษาของแพทย์ก็จะดีขึ้น

ทั้งนี้ โครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ CARVER-AMR ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติใช้งานในโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลที่สนใจทดสอบหุ่นยนต์ สามารถติดต่อสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งพัฒนานวัตกรรมอัตโนมัติเพื่อการแพทย์ในครั้งนี้ได้ที่เฟซบุ๊ก www.facebook.com/CarverAMR และ www.facebook.com/HacFibo หรือปรึกษาด้านโลจิสติกส์ได้ที่ www.login2login.com

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 3 สิงหาคม 2565


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2022-08-04 06:06:03
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com