อย่าชะล่าใจ! ผู้เชี่ยวชาญเตือน ‘AI’ อาจทำ ‘มนุษย์สูญพันธุ์’



AI” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของมนุษยชาติ อ่านเบื้องลึกแถลงการณ์โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ แม้กระทั่งหัวหน้าทีมพัฒนา OpenAI และ Google Deepmind ยังออกโรงเตือน!

“ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “AI” (เอไอ) ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนวิทยาการเริ่มล้ำหน้า ทำได้หลากหลายด้าน แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ทำให้หลายคนเป็นกังวลว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาแย่งตำแหน่งงานของตน ขณะที่วงการศิลปะต่างเจอปัญหาด้านลิขสิทธิ์และกฎหมายที่ยังตามไม่ทันเทคโนโลยี

เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความเห็นของเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้าน AI หลายสิบคน รวมถึงหัวหน้าทีมขององค์กรใหญ่ ๆ อย่าง แซม อัลต์แมน หัวหน้าผู้บริหารของ OpenAI ผู้ผลิตโปรแกรม ChatGPT, เดมิส แฮสซาบิส หัวหน้าผู้บริหารของ Google DeepMind บริการด้านปัญญาประดิษฐ์ และ ดาริโอ อาโมได จาก Anthropic ต่างลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์ที่เผยแพร่บนหน้าเว็บไซต์ศูนย์ความปลอดภัยปัญญาประดิษฐ์ (Centre for AI Safety)


ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า “การลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จาก AI ควรถูกยกให้มีความสำคัญระดับโลกควบคู่ไปกับความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น โรคระบาดและสงครามนิวเคลียร์”

ในเว็บไซต์ยังระบุอีกว่า AI สามารถถูกนำไปใช้เป็น “เครื่องมือ” ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติด้านต่าง ๆ ได้ อาทิ

  • AI สามารถใช้เป็นอาวุธได้ เช่น เครื่องมือในการค้นพบยาสามารถใช้สร้างอาวุธเคมีได้
  • ข้อมูลที่ผิดที่สร้างขึ้นโดย AI อาจทำให้สังคมสั่นคลอนและ "ทำลายการตัดสินใจร่วมกันของกลุ่มบุคคล"
  • พลังของ AI อาจกระจุกตัวอยู่ในมือของคนไม่กี่กลุ่ม รวมถึงใช้ "สอดแนมและเซนเซอร์ข้อมูลทางไซเบอร์ของประชาชนโดยรัฐ"
  • ทำให้มนุษย์อ่อนแอลง จนต้องพึ่งพา AI คล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์แอนิเมชัน “Wall-E"

นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่มีชื่อเสียงอีกหลายคนร่วมลงนามในแถลงการณ์นี้ด้วย ไม่ว่าเป็น ดร.เจฟฟรีย์ ฮินตัน ผู้เคยออกคำเตือนก่อนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเอไออัจฉริยะขั้นสูง เช่นเดียวกับ โยชัว เบนจิโอ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยมอนทรีออล

ขณะที่ เจ้าของสมญานาม "เจ้าพ่อแห่ง AI" อย่าง ศาสตราจารย์ ยานน์ เลชุน จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งปัจจุบันทำงานกับ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ให้ความเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า โลกจะแตกเพราะ AI นั้นออกจะเกินจริงไปเสียหน่อย และจนถึงขณะนี้  (31 พ.ค. 2566) เขาก็ยังไม่ได้ลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าว

AI อาจสร้างความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ เลชุน ไม่ใช่นักวิจัยเพียงคนเดียวที่เห็นค้านเรื่อง AI จะทำลายล้างโลก สำหรับอาร์วินด์ นารายานัน นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยมหาพรินซ์ตัน ก็ได้บอกกับสำนักข่าว BBC ว่าภัยพิบัติจากเครื่องจักรกลแบบในภาพยนตร์ไซไฟนั้นออกจะเกินจริง เพราะในปัจจุบัน AI ยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ควรระวังอันตรายจากการใช้ AI ในปัจจุบันมากกว่า

สอดคล้องกับความเห็นของ เอลิซาเบธ เรเนียริส นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันจริยธรรมใน AI แห่ง มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่าเธอกังวลกับความเสี่ยงภัยจาก AI ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้มากกว่า “ความก้าวหน้าของ AI จะทำให้เกิดการตัดสินใจโดยอัตโนมัติที่ลำเอียง เลือกปฏิบัติ กีดกัน หรือไม่ยุติธรรม แต่อาจเข้าใจได้และไม่สามารถโต้แย้งได้ว่าทำไมถึงตัดสินใจเช่นนั้น”

อีกทั้งเครื่องมือ AI จำนวนมากเปิดให้ใช้บริการฟรี ยิ่งทำให้ AI ถูกป้อนข้อมูลเกี่ยวกับงานศิลปะที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ ข้อความ และดนตรี จนสามารถเลียนแบบออกมาได้อย่างแนบเนียน ทำให้บริษัทผู้สร้าง AI ได้รับข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีประสิทธิภาพจากสาธารณชนไปใช้แบบฟรี ๆ

“หลายครั้งที่มีข้อมูลผิด ๆ จาก AI ถูกแพร่กระจายไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และขาดความไว้ใจจากสาธารณชน ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะกับโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศที่ไม่เท่าเทียมกัน (digital divide)" เรเนียริสกล่าวสรุป

อย่างไรก็ตาม แดน เฮนดริกส์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยปัญญาประดิษฐ์ ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าว BBC ว่า ไม่ควรมองความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในแง่ลบมากเกินไป เพราะการตระหนักบางประเด็นในวันนี้ อาจเป็นประโยชน์ในการจัดการความเสี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต

AI” ภัยคุกคามที่ควรตระหนัก

“ภัยคุกคามจาก AI” เริ่มเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2566 ผู้เชี่ยวชาญรวมถึงอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง Tesla ลงนามในจดหมายเปิดผนึกเพื่อเรียกร้องให้หยุดการพัฒนาเทคโนโลยี AI รุ่นต่อไป โดยส่วนหนึ่งของจดหมายระบุว่า

"หากเรายังคงพัฒนาความคิดจิตใจของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งในอนาคตสิ่งเหล่านี้อาจมีจำนวนมากกว่า ฉลาดกว่า มีทันสมัยกว่า สุดท้ายแล้วพวกมันจะแทนที่พวกเราในที่สุด”

ขณะที่ แซม อัลต์แมน และ ซันดาร์ พิชัย ผู้บริหารระดับสูงของ Google ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ได้หารือเกี่ยวกับกฎระเบียบของ AI กับ ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรเมื่อเร็ว ๆ นี้

“คุณคงเห็นแล้วว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ AI ช่วยให้คนเป็นอัมพาตเดินได้ ค้นพบยาปฏิชีวนะใหม่ ๆ แต่เราต้องทำให้แน่ใจว่า AI ไม่เป็นอันตราย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมพบกับซีอีโอบริษัท AI รายใหญ่ หารือเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน กฎระเบียบที่ควรนำมาบังคับใช้เพื่อให้พวกเราปลอดภัย และคลายกังวลว่า AI เป็นภัยคุกคามระดับโรคระบาดหรือสงครามนิวเคลียร์” ซูแน็กให้สัมภาษณ์กับนักข่าวเกี่ยวกับความเสี่ยงของ AI โดยเน้นย้ำถึงผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ นายกรัฐมตรีแห่งสหราชอาณาจักรเตรียมยกประเด็นนี้เข้าหารือในการประชุมสุดยอด G7 กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ พร้อมทั้งหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นอีกครั้งในสหรัฐโดยเร็ว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 1 มิถุนายน 2566


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2023-06-01 06:51:25
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com