‘อินฟินีออน’ ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 1 ของเยอรมนี
ตัดสินใจเลือกไทยฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ประเภท Power Module สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบกักเก็บพลังงาน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด
เป็นแห่งที่ 3 ในโลก ต่อจากเยอรมนีและจีน
โดยจัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงาน คาดว่าจะเปิดดำเนินการต้นปี 2569 พร้อมจัดตั้งศูนย์วิจัยและประกาศแผนความร่วมมือด้านบุคลากร
เสริมแกร่งซัพพลายเชน ยกระดับไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำระดับโลก
14 มกราคม 2568 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor
Advanced Packaging) ประเภท Power Module ซึ่งเป็นเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้า
ที่จังหวัดสมุทรปราการ ของบริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) ในเครือ Infineon
Technologies AG ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี
โดยมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของโลก
สำหรับผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ให้กำลังไฟในงานอุตสาหกรรม
(Power Electronics) อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิต Power
Module รายแรกของโลกด้วย
โรงงานผลิต Power
Module ของอินฟินีออนในประเทศไทยแห่งนี้
ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและพร้อมเปิดดำเนินงานในช่วงต้นปี 2569
โดยเน้นป้อนให้กับกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบกักเก็บพลังงาน
และกลุ่มอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดเป็นหลัก นอกจากนี้
บริษัทจะลงทุนสร้าง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์”
เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินงานในโครงการ รวมถึงบริษัทในเครือที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย
อีกทั้งยังมีแผนถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดยทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย
เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย
และช่วยยกระดับประเทศไทยสู่ฐานการผลิตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในระดับโลก
“การตัดสินใจลงทุนของบริษัท อินฟินีออนในครั้งนี้
นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเข้าสู่ Supply chain ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในระดับโลก
โดยเฉพาะเป็นการผลิต Advanced Packaging สำหรับผลิตภัณฑ์ Power
Module เพื่อรองรับธุรกิจบริหารจัดการพลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในไทย
เพื่อพัฒนาบุคลากรสาขาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์
รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถผลิตชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐานโลก
การลงทุนครั้งนี้แสดงถึงความเชื่อมั่นของบริษัทต่อสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและศักยภาพในการเติบโตของประเทศไทย
โดยการที่รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2567
ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต”
นายนฤตม์ กล่าว
นายรุ๊ทเกอร์ วิจบูร์ก
กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ จากบริษัท อินฟินีออน
เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า
การก่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ของอินฟินีออนในประเทศไทยในครั้งนี้
ถือเป็นการขยายฐานผลิตครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและกระจายความหลากหลายของฐานผลิตรองรับความต้องการของตลาดในภูมิภาคเอเชีย
โดยเฉพาะในด้านพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
“การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการเข้าสู่ยุคดิจิทัล
เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในเชิงโครงสร้างที่สำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
เราจึงจัดตั้งโรงงาน Back End ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคต
สร้างความยืดหยุ่นและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานของเรา
การลงทุนในประเทศไทยครั้งนี้
เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มความหลากหลายให้กับฐานผลิตและการบริหารต้นทุน
เพื่อสร้างความมั่นใจและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าว่าเราจะสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
นายรุ๊ทเกอร์ กล่าว
ทั้งนี้ นายรุ๊ทเกอร์ วิจบูร์ก
และคณะผู้บริหารจาก Infineon Technologies AG ยังได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีแพทองธาร
ชินวัตร ในวันที่ 13 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา
เพื่อขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการลงทุนเป็นอย่างดี
และได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือในอนาคต
ทั้งด้านการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย
รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก
ที่มา : MReport
วันที่ 22 ม.ค. 2568