ตลาดของหุ่นยนต์ในภาคบริการนั้นเรียกได้ว่ามีการตื่นตัวอย่างมาก
ดังที่ทุกท่านอาจจะเห็นหุ่นยนต์รูปแบบต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น
โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้หุ่นยนต์ในภาคบริการมากกว่า 4,600 ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ข้อมูลชี้ว่าปี 2565 มียอดขายหุ่นยนต์ภาคบริการในระดับสากลมากถึง
5 ล้านตัว
เรียกได้ว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และเข้าถึงง่ายกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
ซึ่งคำถามสำคัญในเทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้ คือ
‘ประเทศไทยจะมีส่วนแบ่งในเรื่องนี้และแข่งขันได้อย่างไร?’
ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว
เนื่องจากสัดส่วนของประชากรสูงวัยนั้นมีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งประชากรกว่า 13 ล้านคน (20.17%) มีอายุมากกว่า 60 ปี และประชากรกว่า 8.9 ล้านคน (14%) มีอายุมากกว่า 65 ปี
ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นกับนานาอารยประเทศทั่วโลกเช่นกัน
ปัญหาหลักของสังคมสูงวัย คือ ไม่มีแรงงานหน้าใหม่เข้ามาในระบบและแรงงานเก่ามือเก๋าก็ต้องถึงเวลาปลดประจำการ เมื่อมาผนวกเข้ากับปัญหาการขาดแคลนแรงงานเดิมในกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานทักษะสูง หรือตำแหน่งงานที่ปกติแล้วใช้แรงงานต่างด้าวเพราะคนไทยไม่อยากทำ การทำงานที่มีค่าตอบแทนต่ำกว่ากฎหมายกำหนดจนหาคนทำงานได้ยาก รวมถึงเทรนด์การทำงานยุคใหม่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านค่านิยมต่าง ๆ ทำให้ตลาดการจ้างงานเองก็เกิดการแย่งชิงอย่างเข้มข้นเช่นกัน
เพื่อหาทางลงให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นนอกเหนือไปจากการจูงใจและรักษาแรงงานเดิมแล้ว
การใช้เครื่องไม้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ
ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดูมั่นใจได้มากกว่าแรงงานในบางมิติอย่างเช่น
การใช้งานหุ่นยนต์ที่ไม่ต้องกังวลเรื่อง สาย ลา ขาด เบิกเงินก่อน ตัดสาย
ติดต่อไม่ได้เป็นต้น ถ้าไม่นับว่าเสีย ซึ่งรู้แน่ ๆ ว่าทำงานไม่ได้จริง ๆ
เรียกว่าหุ่นยนต์พร้อมสแตนด์บายทำงานตลอดเวลา
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการเลือกใช้หุ่นยนต์บริการจึงเป็นทางออกของผู้ประกอบการจำนวนมากและเลือกจ้างคนเฉพาะงานที่สำคัญหรือมีความซับซ้อนสูงเท่านั้น
ซึ่งแนวโน้มที่เกิดขึ้นนั้นได้รับการยืนยันด้วยข้อมูลจากทีมวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
จากเอกสาร สถานภาพตลาดหุ่นยนต์โลกและการสำรวจตลาดหุ่นยนต์บริการ
(Service Robot) ในประเทศไทย ปี 2566 และแนวโน้มปี 2567–2568 โดย NECTEC ได้มีการรวบรวมข้อมูลจากรายงานของ Federation of Robotics: IFR ปี 2566 และการสำรวจตลาดของ Service Robot (หุ่นยนต์บริการ) ในประเทศไทย ปี 2566 จากทีมของ NECTEC
ได้ชี้ให้เห็นทิศทางที่น่าสนใจของหุ่นยนต์ในระดับสากลและภายในประเทศเอาไว้
ดังนี้
ข้อมูลจาก IFR บ่งชี้ว่าในปี 2565 Professional Service Robot ทั่วโลกมียอดขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากถึง
48% และมียอดจำหน่ายกว่า 158,000 ตัว
โดยยอดขายสูงที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ หุ่นยนต์ Transportation
& Logistics, หุ่นยนต์ด้าน Hospitality และหุ่นยนต์ทางการแพทย์
Medical & Healthcare ซึ่งในส่วนของ Consumer
Service Robot ในปี 2565 พบว่ามียอดขายประมาณ 5 ล้านตัว มีการขยายตัวลดลงจากปีก่อนหน้า 12%
ซึ่งในตลาดของหุ่นยนต์บริการที่เป็นตลาดใหม่นี้กลับมีจำนวนของผู้ประกอบการเดิมด้านหุ่นยนต์อยู่ถึง
91% โดยประเทศที่มีผู้ประกอบการ Service Robot มากที่สุด ได้แก่
สหรัฐอเมริกา 218
บริษัท
จีน 106
บริษัท
เยอรมนี 85
บริษัท
ญี่ปุ่น 72
บริษัท
จากการสำรวจของ NECTEC
พบว่าจำนวนหุ่นยนต์บริการสะสมในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 –
2566 นั้นมีมากถึง 4,600 ตัว โดย 44% เป็นหุ่นยนต์กลุ่ม Transportation & Logistics, หุ่นยนต์ Hospitality 21% และหุ่นยนต์ Professional
Cleaning 20% โดยข้อมูลในปี 2566
แสดงให้เห็นว่ามูลค่าตลาดนั้นยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้จะไม่ได้มีการขยายตัวที่สูงมาก
แต่ก็ยังส่งผลให้มีต้นทุนในการเช่าใช้ลดลงไม่น้อยโดยเฉพาะหุ่นยนต์ Delivery
นอกจากนี้การเติบโตของเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น ระบบเครือข่าย 5G และ AI ยังมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ตลาดของหุ่นยนต์บริการนั้นเติบโตขึ้นภายในประเทศ
ในขณะเดียวกันตลาดใหญ่หัวเมืองอย่างกรุงเทพฯ
และปริมาณฑลโดยรอบเริ่มเกิดการอิ่มตัวในการใช้งานหุ่นยนต์ Delivery การขยายตลาดเข้าสู่ต่างจังหวัดหรือการขยับเข้าสู่กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล
กลุ่มโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่ม Hospitality ยังมีโอกาสในการเติบโตอีกไม่น้อย
แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะมีการกำหนดให้ธุรกิจการผลิตหุ่นยนต์เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย
New S-Curve ภายใต้กลุ่ม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์
และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
แต่ก็ต้องยอมรับว่าความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานในระบบนิเวศ (Ecosystem)
ของธุรกิจนั้นยังไม่เพียงพอ ทั้งองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี
และการสนับสนุนผลักดันจากภาครัฐที่เข้มแข็ง
ประกอบกับการทะลักเข้ามาของผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง
ทำให้เกิดความท้าทายที่สูงชันในช่วงเวลาที่ผ่านมา
จากการศึกษาของ NECTEC
ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการด้าน Professional Service Robot ในประเทศไทยมีมากกว่า 30 ราย โดยมีผู้เล่นหลัก คือ
หุ่นยนต์บริการจากจีนที่มีทั้งผู้ผลิตเริ่มเข้ามาทำตลาดเอง
และมีตัวแทนจำหน่ายที่มีบริษัทไทยร่วมเป็นพันธมิตรด้วย
ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่มีการผลิตและพัฒนาหุ่นยนต์บริการในระดับมืออาชีพนั้นมีอยู่เพียง
5 บริษัทที่เน้นผลิตหุ่นยนต์ตามความต้องการของลูกค้า
และมุ่งเน้นตลาดที่เป็น Niche Market ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนการผลิตหุ่นยนต์ของไทยนั้นสูงกว่าจีน
และการลงมาทำอะไรที่มีความจำเพาะเจาะจงโดยเฉพาะกับพฤติกรรมของผู้ใช้ในพื้นที่แน่นอนว่าผู้ผลิตไทยย่อมสามารถทำคะแนนได้ดีกว่า
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่ครบวงจรมากพอเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการ ‘สมองไหล’ ออกไปนอกประเทศไม่น้อย แต่ในปัจจุบันที่กระแสของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นั้นเกิดการตื่นตัวอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงสินค้าอย่าง Intelligent Asia Thailand ที่จัดขึ้นช่วงต้นปี และงาน THECA (Thailand Electronics Circuit Asia) ที่จัดขึ้นปลายเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวและการลงทุนสำหรับเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำในเมืองไทย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ผลิตหุ่นยนต์บริการไทยได้ตั้งแต่ระดับฐานราก
ข้อมูลจาก BOI แสดงให้เห็นว่า
ประเทศไทยเองมีการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นอันดับ
1 โดยคิดเป็น 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งประเทศ ในปี 2566
ที่ผ่านมามีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากถึง 100,860 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรม PCB
ของไทยมี Market Share อยู่ที่ 4%
ซึ่งในอนาคตมีโอกาสขยับขึ้นถึง 10% และกลายเป็นอันดับที่ 4 ของโลกรองจากจีน
เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
เรียกได้ว่ามีแนวโน้มในการแข่งขันที่เป็นไปได้และน่าจับตามองอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ผลจากการตื่นตัวของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทย
ยังทำให้เกิด Thailand Electronics Cirtcuit
Center (TECC) ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง THPCA, TMEC และ MUT เพื่อพัฒนาบุคลากรและตอบสนองด้านการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์
ตลอดจนเทคโนโลยี Smart Device ใหม่ ๆ
ซึ่งสามารถเป็นส่วนประกอบสำคัญของหุ่นยนต์บริการได้ ครอบคลุมตั้งแต่งาน PCN
Design และ IC Design ไปจนถึงศูนย์การผลิตต้นแบบที่ทำให้
Ecosystem ต้นน้ำของเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีความพร้อมในการแข่งขัน
หากมองกลับมาที่หน่วยงานอย่าง NECTEC ภายใต้สังกัดของ NSTDA เองก็มีการพัฒนาแพลตฟอร์มหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติที่มีการออกแบบทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ซึ่งมีการผลิตตัวต้นแบบใช้งานแล้ว
พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาหุ่นยนต์บริการเองด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาไปจนถึงการใช้งาน Testbed เพื่อพัฒนาโซลูชันขึ้นมาอีกด้วย
คนไทยมีไอเดียดี แต่มักจะไปไม่ถึงฝั่งฝันด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลากร เทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอ ตลอดจนองค์ความรู้ที่มีเมื่อต้องอยู่ในตลาดระดับสากลที่การแข่งขันมีความเข้มข้นสูง หรือในเรื่องของการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วปัญหาของผู้ประกอบการไทยสำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มักจะอยู่ในรูปของ Ecosystem ทางธุรกิจที่เป็นผลจากโครงสร้างและนโยบายระดับประเทศที่ขาดความเข้มแข็งชัดเจน ภาคเอกชนก็ทำไป คนออกนโยบายก็อยากสั่งตามสมัยตามเทรนด์แต่ขาดความเข้าใจ ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่อาจส่งถึงมือกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ หรือในบางกรณีอาจเป็นการขยับตัวเพื่อแข่งขันที่ช้าเกินไปหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของตลาดในปัจจุบัน
หากพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่า Startup ใหม่ ๆ ของไทยที่เข้าแข่งขัน Pitching ไอเดีย Series ต่าง ๆ มีเยอะขึ้น
มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ไปจนถึงมีตัวต้นแบบในการใช้งานที่ทดสอบแล้วได้ผล
เรียกว่ามีความพร้อม มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์
แต่อีกปัญหาสำคัญที่ตามมา คือ ไม่สามารถ Scalable หรือขยายการผลิตเข้าสู่รูปแบบอุตสาหกรรมได้โดยง่าย
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของบ้านเรายังไม่แข็งแรงและขาด
Ecosystem ที่พร้อมสนับสนุน
ในขณะเดียวกันการเข้ามาของทุนจีนก็ส่งผลกระทบกับผู้ผลิตในทุกอุตสาหกรรม
ไม่ว่าจะตลาดที่สู้กันด้วยราคา
หรือตลาดที่ต้องสู้กันด้วยเทคโนโลยีก็ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยอยู่ในสภาพตั้งรับและรอความช่วยเหลือด้านนโยบายจากภาครัฐ
เหมือนดังเช่นตลาดยานยนต์ในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงแต่ก็ดูไม่ได้มีท่าทีที่รัฐจะดำเนินการอะไรชัดเจน
หากโครงสร้างพื้นฐานใหม่และ Ecosystem สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทยเข้มแข็งขึ้น ตลาดการผลิตหุ่นยนต์บริการในไทยก็สามารถเกิดขึ้นและแข่งขันได้อย่างแน่นอน เพราะ Startup ไทย และ SI ด้านหุ่นยนต์เดิมที่มีก็อาจเรียกได้ว่ามีดีมานด์ในตลาดรอคอยอยู่แล้ว เช่นเดียวกับตลาดสากลที่ผู้ผลิตหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรม เช่น AMR จะดัดแปลงเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้งานในรูปแบบของหุ่นยนต์บริการมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เข้มแข็งจะช่วยลดต้นทุนในการแข่งขันของผู้ที่ต้องการผลิตหุ่นยนต์บริการได้ ในขณะที่ Ecosystem ใหม่จะช่วยเติมเต็มเรื่องการออกแบบและการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่จะช่วยปลดล็อกตลาดหุ่นยนต์บริการไทยที่ทำตามคำสั่งการผลิตเฉพาะตลาด Niche ให้เปิดกว้างยิ่งขึ้น
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า
หุ่นยนต์บริการนั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเพราะมีปัจจัยด้านการขาดแคลนแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
ทำให้ตลาดของหุ่นยนต์บริการในประเทศไทยเองก็มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่การที่ผู้ผลิตไทยจะสามารถแข่งขันได้กับหุ่นยนต์จีนที่ทะลักเข้ามาเป็นผู้เล่นหลักนั้น
ผู้ประกอบการไทยต้องมี Ecosystem และโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้มแข็งเสียก่อน
ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐกำลังผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น BOI,
THPCA, TMEC, MUT, NECTEC และ FIBO ตลอดจนการเปิดพื้นที่นวัตกรรมใหม่
ๆ ใน EEC ซึ่งแน่นอนว่าหากมีนโยบายจากรัฐบาลที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจในประเทศที่ชัดเจนและเข้มข้นจะเป็นเหมือนแรงส่งที่ทุกคนรอคอยมาอย่างยาวนานเพื่อไปให้ถึงฝัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Startup และ SI ที่มีศักยภาพแต่ขาดความสามารถในการ
Scalable เพื่อสู้กับเจ้าตลาดต่างถิ่นในปัจจุบัน
ที่มา : MMThailand
วันที่ 23 สิงหาคม 2567