ปัจจุบัน
AI
มีบทบาทก้าวหน้าอย่างมากในการปรับปรุงการเกษตร ผู้คนจึงนำหุ่นยนต์ AI
มาช่วยตรวจสอบ ดูแล และเพิ่มคุณภาพการเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รี
เพื่อช่วยจัดการปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และเพิ่มความยั่งยืน-คุ้มค่า
สร้างความมั่นคงด้านอาหาร
ในปีที่ผ่านมา
AI
ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติรถยนต์ไร้คนขับ ไปจนถึงกระบวนการวินิจฉัยโรคทางการแพทย์
ซึ่งคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสามารถของ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาล
และทำการตัดสินใจแบบเรียลไทม์นั้น ช่วยเพิ่มทั้งผลผลิต และความยั่งยืน
ทำให้เกิดคลื่นลูกใหม่ของประสิทธิภาพและนวัตกรรมในหลายๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะ
อุตสาหกรรมไฮเทค แต่สำหรับอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างเช่นเกษตรกรรม ณ วันนี้ AI
มีบทบาทอย่างไรในภาคการเกษตรบนเวทีโลก
วันนี้
AI
มีบทบาทก้าวหน้าอย่างมากในการปรับปรุงการเกษตร
เพื่อผลักดันความมั่นคงทางอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเกษตรแม่นยำ (Precision
Farming) ที่ใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต
เรื่องการจัดการศัตรูพืช และการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า เป็นต้น
บทความนี้จะนำเสนอตัวอย่างในการใช้
AI
เข้ามาช่วยในการดูแลและเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต
ช่วยจัดการปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และเพิ่มความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน
·
ฟาร์ม Ráječek
สาธารณรัฐเช็ก กับความท้าทายในการปลูกสตรอว์เบอร์รี
สตรอว์เบอร์รี
เป็นหนึ่งในผลไม้ที่ต้องใช้ยากำจัดศัตรูพืชหลายชนิด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ต้องการ
จากรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ โดย Environmental Working Group (EWG) พบว่า จากการสุ่มตรวจตัวอย่างสตรอว์เบอร์รีในสหรัฐอเมริกา ประมาณ 30%
มีสารตกค้างของยาฆ่าแมลงมากกว่าสิบชนิด ด้วยเหตุนี้ทำให้การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้
เพื่อลดหรือเลิกการใช้ยาฆ่าแมลง รวมไปถึงการลดการใช้ทรัพยากรในการปลูก
จึงเป็นแนวโน้มในอนาคตของการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน
เป้าหมายของ
ฟาร์ม Ráječek
คือ การปลูก สตรอว์เบอร์รี โดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
ในการที่จะทำเช่นนี้ได้ฟาร์มจำเป็นต้องติดตามตรวจสอบสตรอว์เบอร์รีที่ปลูกอย่างใกล้ชิด
เพื่อดูความคืบหน้าของการเจริญเติบโต และดูว่าเริ่มมีศัตรูพืชหรือไม่
การติดตามสภาวะเหล่านี้อย่างละเอียด และต่อเนื่องเป็นงานที่หนักหน่วงสำหรับผู้ดูแล
·
Digital Twin หุ่นยนต์
และ AI ในการตรวจสอบและเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รี
กว่าสตรอว์เบอร์รีเมล็ดเล็กๆ
จะไปอยู่บนชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ต มีขั้นตอนที่ยาวนาน และซับซ้อน
อีกทั้งยังต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก ฟาร์ม Ráječek ใช้หุ่นยนต์
Fravebot ที่ได้รับการฝึกฝนด้วย AI เข้ามาช่วยในการติดตามตรวจสอบสุขภาพและเก็บเกี่ยวผลสตรอว์เบอร์รี
โดยหุ่นยนต์เหล่านี้ถูกฝึกในสภาพแวดล้อม Digital Twin หรือโลกจำลองดิจิทัลของพืชและผลไม้ใน
NVIDIA Omniverse
ด้วยความก้าวหน้าของเครื่องมือจำลองสถานการณ์ในปัจจุบัน
ที่สามารถจำลองกฎทางฟิสิกส์ เช่น น้ำหนักของสตรอว์เบอร์รี
การเรียนรู้ของหุ่นยนต์จึงสามารถฝึกฝนได้ในโลกดิจิทัล
โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมจริง ในกรณีนี้ interface ระหว่างโลกจริงกับโลกดิจิทัลใช้โซลูชันจากแพลตฟอร์มธุรกิจดิจิทัลแบบเปิด Siemens
Xcelerator
หลังจากการฝึกฝนหุ่นยนต์เหล่านี้
สามารถตรวจจับโรคและแมลงศัตรูพืชได้จริง แนวทางในการฝึกหุ่นยนต์ในโลกดิจิทัลนี้
ช่วยเร่งกระบวนการพัฒนาหุ่นยนต์ได้อย่างมาก อีกทั้งยังประหยัดเวลาและทรัพยากร
รวมถึงลดต้นทุนในการดำเนินงาน
·
ฟาร์ม Ráječek
ใช้หุ่นยนต์สองประเภท
เพื่อช่วยให้การปลูกสตรอว์เบอร์รีง่ายขึ้นและยั่งยืนยิ่งขึ้น
1.
Fravebot Scout สำหรับติดตามสุขภาพและความสุกของสตรอว์เบอร์รี
2. Fravebot
Harvestor สำหรับเก็บเกี่ยว โดยสามารถเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รี ได้
25 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่ากับแรงงานของคนหนึ่งคน
การแบ่งงานระหว่างหุ่นยนต์สองประเภทมีประโยชน์ในหลายๆ
ด้าน
Vratislav
Beneš ผู้ก่อตั้ง Fravebot กล่าวว่า Fravebot
Scout มีหน้าที่หลักในการเฝ้าดูสตรอว์เบอร์รี
สามารถเคลื่อนที่ไปรอบๆ โรงเรือนอย่างรวดเร็ว
และหากพวกเขาต้องทำงานอื่นพร้อมกันจะทำให้ล่าช้า ตรงกันข้าม Fravebot
Harvestor จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่พวกเขาออกไปทำงานเฉพาะในพื้นที่ที่จำเป็นเท่านั้น
สำหรับเรื่องราวของ
ฟาร์ม Ráječek
ฉายภาพอนาคตของภาคการเกษตร ที่ AI และ
หุ่นยนต์ ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตเท่านั้น
แต่ยังส่งเสริมแนวทางการเกษตรแบบยั่งยืนอีกด้วย เมื่อ AI พัฒนาขึ้น
จะมีนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและคุ้มค่า
พร้อมสร้างอนาคตความมั่นคงทางอาหารของโลกต่อไป
ที่มา
:
กรุงเทพธุรกิจ
วันที่
28 มิถุนายน 2567