ตลาดแรงงานไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการเร่งตัวของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
(AI)
และการใช้ข้อมูล (Data) ที่แทรกซึมเข้าสู่ทุกภาคเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
งานวิจัยจาก
McKinsey
& Company คาดว่า Generative AI จะสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง
2.6-4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 88-149.6 ล้านล้านบาท)
โดยอุตสาหกรรมที่ได้อานิสงส์สูงสุด ได้แก่ ธนาคาร เทคโนโลยีขั้นสูง
และชีววิทยาศาสตร์
ภาคธนาคารเพียงอุตสาหกรรมเดียวมีศักยภาพเพิ่มรายได้อีก
2-3.4
แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 6.8-11.56 ล้านล้านบาท)
ขณะที่ภาคค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภคสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีก 4-6.6
แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 13.6-22.44 ล้านล้านบาท)
ในประเทศไทย
รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาแรงงาน AI จำนวน
50,000 คนใน 5 ปี
ผ่านการขับเคลื่อนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (MHESI)
เพื่อรองรับการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมครั้งสำคัญ ขณะที่รายงาน 2024
Work Trend Index ของ Microsoft และ LinkedIn
พบว่า 92% ของพนักงานไทยใช้งาน AI ในการทำงานแล้ว สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 75% อย่างไรก็ตาม
81% ของผู้ใช้งาน AI ในไทยยังคงนำเครื่องมือ
AI ส่วนตัวมาใช้ในงาน (Bring Your Own AI) สะท้อนปัญหาการขาดแคลนกลยุทธ์การใช้ AI ในระดับองค์กรและความเสี่ยงด้านความปลอดภัยข้อมูล
ข้อมูลจาก
World
Economic Forum ยังตอกย้ำถึงแนวโน้มเร่งตัวนี้ โดยระบุว่า
จำนวนผู้ที่เพิ่มทักษะด้าน AI ทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 177%
ตั้งแต่ปี 2018 แม้แต่ในสายงานที่ไม่ใช่เทคโนโลยี
เช่น การตลาด การขาย และสุขภาพ ก็เริ่มให้ความสำคัญกับทักษะด้าน AI มากยิ่งขึ้น
Generative
AI: คลื่นดิจิทัลลูกใหม่ที่ทรงพลัง
นางสาวมณีรัตน์
อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย)
มองว่า Generative AI เป็น “Digital Transformation ระลอกใหม่” ที่กำลังแปรเปลี่ยนโลกการทำงานอย่างรวดเร็ว
ด้วยความง่ายในการใช้งานผ่านการสั่งการด้วยภาษาธรรมดา
ทำให้คนจำนวนมหาศาลสามารถใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านโค้ดดิ้งเหมือนในอดีต
"Generative
AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
และเป็นเครื่องมือสร้างความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญ
ท่ามกลางเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข่งขันสูงขึ้นทุกวัน" นางสาวมณีรัตน์กล่าว
พร้อมเสริมว่า องค์กรที่มองเห็นโอกาสนี้จะสามารถใช้ Generative AI เป็นตัวเร่งสร้างนวัตกรรมและเป็น Disruptor ในอุตสาหกรรมตนเอง
แทนที่จะเป็นฝ่ายถูก Disrupt
ในทางปฏิบัติ
องค์กรไทยหลายแห่งเริ่มนำ Generative AI มาใช้แล้วในหลากหลายงาน
เช่น งานที่ทำซ้ำๆ เช่น การบริการลูกค้า การวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ
การจัดการระบบโลจิสติกส์ และการขาย แม้การนำ AI มาใช้จะเพิ่มประสิทธิภาพอย่างมาก
แต่ก็ทำให้บทบาทและความรับผิดชอบของพนักงานเปลี่ยนแปลงไปด้วย”
นางสาวมณีรัตน์เน้นย้ำว่า
"อนาคตของการทำงาน ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของ 'คน' ที่ต้องพัฒนาให้พร้อมเติบโตไปกับเทคโนโลยี"
กลยุทธ์สำคัญ:
พัฒนาคนและกำกับดูแลข้อมูล
เพื่อให้การใช้
AI
เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรต้องดำเนินการสองด้านควบคู่กัน คือ
การพัฒนาทักษะคน (Upskill-Reskill) และการวางกรอบกำกับดูแลข้อมูล
(Data Governance)
ข้อมูลจาก
PwC
ประเทศไทย ชี้ว่า AI Agent หรือ ตัวแทน AI
ซึ่งทำงานแทนมนุษย์ได้อย่างอัตโนมัติ ทั้งการประมวลผลข้อมูล
การตัดสินใจ และการโต้ตอบ กำลังเริ่มถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจไทย เช่น การเงิน
ค้าปลีก และโลจิสติกส์
ตัวอย่างการใช้เช่น: บริการทางการเงิน: วิเคราะห์ข้อมูล, ตรวจสอบธุรกรรม , ค้าปลีก/อีคอมเมิร์ซ: วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า, บริหารสินค้าคงคลัง และ โลจิสติกส์: วางแผนเส้นทาง, ติดตามการจัดส่ง
ดร.ภิรตา
ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา
บริษัท PwC
ประเทศไทย ชี้ว่า AI Agent สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตในองค์กรได้กว่า
50% แต่ในทางกลับกัน ก็อาจทำให้ตำแหน่งงานบางประเภท
โดยเฉพาะงานซ้ำซากและทักษะต่ำ ถูกลดบทบาทลง ดังนั้น
การวางกลยุทธ์รับมืออย่างรอบคอบจึงมีความจำเป็น
เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพและการดูแลแรงงานในองค์กร
กรณีศึกษา
Sea
(ประเทศไทย): ปั้นพนักงานยุค AI
Sea
(ประเทศไทย) เป็นหนึ่งในองค์กรที่เดินหน้ายกระดับทักษะพนักงานรับยุค
AI โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong
Learning) และอนุมัติให้พนักงานใช้ Generative AI เป็นเครื่องมือประจำวันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดเวลาทำงานจำเจ
เพิ่มเวลาโฟกัสงานอิมแพคสูง
Sea
(ประเทศไทย) ยังสนับสนุนการอบรมใช้งาน AI อย่างถูกต้องและปลอดภัย
พร้อมกำหนดแนวทางการจัดการข้อมูลให้สอดคล้องกับกฎหมาย
พนักงานมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของผลลัพธ์ที่ได้จาก AI ไปจนถึงการตัดสินใจว่าจะนำผลลัพธ์ไปใช้ต่อยอดอย่างไร
เฉกเช่นเดียวกับการประเมินข้อมูล (Data) ในยุคก่อนหน้า
นางสาวมณีรัตน์
เน้นย้ำว่า "Generative AI เป็นเพียงเครื่องมือช่วยทุ่นแรง
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดยังคงเป็นมนุษย์ที่รู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างมีวิจารณญาณ"
ทางรอดในยุค
AI
“ความสามารถในการอยู่รอดและเติบโตในยุค AI ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี
แต่คือการสร้างทักษะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หากภาครัฐ ภาคเอกชน
และสถาบันการศึกษา ร่วมมือกันพัฒนาทักษะ AI ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ไทยจะสามารถขยายการเข้าถึงเครื่องมือและความรู้ด้าน AI ลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี
และเตรียมแรงงานให้พร้อมย้ายไปสู่งานที่มีมูลค่าสูงขึ้น
นอกจากนี้
ธุรกิจไทยควรมีการกำหนดเป้าหมายการใช้ AI อย่างชัดเจน
ออกแบบการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI Agent และลงทุนอย่างจริงจังในการยกระดับทักษะพนักงาน
พร้อมสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจภายในองค์กร” นางสาวมณีรัตน์กล่าวปิดท้าย
ในที่สุด
การพัฒนาทักษะ AI อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมจะเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
บนเวทีเศรษฐกิจโลกในอนาคต
ที่มา
:
ฐานเศรษฐกิจ
วันที่
13 พ.ค. 2568