“เอดับบลิวเอส”
สานแผนลงทุนตลาดไทย คิกออฟ บริการโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ “เอดับบลิวเอส โลคอล โซน”
อย่างเป็นทางการ หนุนลูกค้าเพิ่มประสิทธิภาพ ความเร็ว
ตอบโจทย์เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่
วางประเทศไทยด่านหน้าเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาค
นายพอล
เฉิน หัวหน้าฝ่ายสถาปัตยกรรมโซลูชันส์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท
อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ เอดับบลิวเอส กล่าวว่า
บริษัทเดินหน้าขยายบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ในประเทศไทยด้วย
เอดับบลิวเอส โลคอล โซน (AWS Local Zone)
โลคอล
โซน ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัว โลคอล โซน ใหม่ 10
แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและญี่ปุ่น
เพื่อทำให้ลูกค้าของเอดับบลิวเอสในประเทศไทยสามารถมอบประสิทธิภาพความเร็วในหลักหน่วยของมิลลิวินาที
(single-digit
millisecond) แก่ผู้ใช้ปลายทาง
ปัจจุบันรวมทั่วโลกมีโลคอลโซนอยู่ทั้งหมด 29 แห่ง
เขากล่าวว่า
บริการดังกล่าวช่วยตอบโจทย์ลูกค้า ทั้งด้านบริหารจัดการระบบไอที เวิร์กโหลด
ข้อมูลและความปลอดภัย
ทั้งมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของผู้ใช้งานทั้งการเล่นเกม โซเชียลมีเดีย
การสื่อสาร การบริหารจัดการข้อมูลในธุรกิจการเงินและองค์กรภาครัฐต่างๆ
รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ไฮบริดคลาวด์และการยกระดับนวัตกรรมและระบบไอทีองค์กรยุคดิจิทัล
ข้อมูลโดยธนาคารโลก
คาดการณ์ว่า ปี 2566 เศรษฐกิจไทย
จะเผชิญการเติบโตที่ช้าลงเนื่องจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก
ทว่าตามรายงานของบริษัทวิจัยการ์ทเนอร์ แม้จะเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ
แต่ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการคลาวด์สาธารณะของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า
31.8% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 20.7%
ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการคลาวด์สาธารณะโดยผู้ใช้ในประเทศไทยจะสูงถึง
54.4 ล้านบาทในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 41.3 ล้านบาทในปี 2565 เอดับบลิวเอส เชื่อว่า
ระบบคลาวด์จะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในการช่วยให้องค์กรในอาเซียนและประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ
เมื่อไม่นานมานี้
เอดับบลิวเอสได้ประกาศแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ระดับโลกในประเทศไทย “AWS
Asia Pacific (Bangkok) Region” ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 5
พันล้านเหรียญ หรือราว 1.9 แสนล้านบาทในระยะเวลา 15 ปี
ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทในไทยจนถึงปัจจุบัน
รีเจียนแห่งใหม่นี้
จะประกอบด้วย Availability Zone 3 แห่งเพิ่มเติมจาก Availability
Zone ของ เอดับบลิวเอสที่มีอยู่แล้ว 87 แห่งใน 27 ภูมิภาคทั่วโลกหากการดำเนินการแล้วเสร็จจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงบริการคลาวด์กว่า
200 บริการได้เร็วมากขึ้น ทำให้ทั้งนักพัฒนา สตาร์ทอัพ และองค์กรต่างๆ
ทั้งภาครัฐและเอกชน
สามารถเรียกใช้แอปพลิเคชันและให้บริการผู้ใช้ปลายทางจากศูนย์ข้อมูลที่ตั้งอยู่ในไทย
รวมถึงการเก็บข้อมูลของตัวเองไว้ในไทย
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในอีก
5 ปีข้างหน้า
ปริมาณข้อมูลจะมีมากขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นของยุคดิจิทัล
ทำให้การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการเติบโตของข้อมูลนั้น
เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับทุกองค์กร
เอดับบลิวเอสเผยว่า
วางตำแหน่งให้ประเทศไทยเป็นด่านหน้าสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาค
โดยทิศทางการดำเนินธุรกิจของเอดับบลิวเอสในไทยปีนี้
จะเน้นทำตลาดกลุ่มลูกค้าธุรกิจการเงิน ค้าปลีก และอุตสาหกรรมการผลิต
ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงในด้านการใช้คลาวด์ พร้อมกันนี้มีการเพิ่มจำนวนพาร์ทเนอร์และทีมงานในไทยอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้
ที่จะดำเนินการควบคู่กันไปคือ
การพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับบุคลากรตั้งแต่ระดับเยาวชน ผู้เร่ิมต้น
จนถึงผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเล็งเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
มีส่วนทำให้เกิดช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลที่กว้างขึ้น
ดังนั้นเพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบในภูมิภาค
โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคอุตสาหกรรม
และสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน
ที่มา :
กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 18 มกราคม
2566