เจาะลึกศึก ‘ภาษีทรัมป์’ สะเทือน ‘เทคโนโลยี’ - ‘ไทย’ เตรียมรับแรงกระแทก ‘จำกัดชิป AI’


ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสูงถึง 36% สำหรับสินค้าจากไทย เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ส.ค.นี้ พร้อมสัญญาณ จำกัดการส่งออกชิปเอไอ จากสหรัฐสู่ไทย ที่อาจบั่นทอนขีดความสามารถการแข่งขันเทคโนโลยีในระยะยาว ขณะที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของไทย เสนอแนวทางรับมือหวังประคองเสถียรภาพเศรษฐกิจให้รอดพ้นแรงปะทะจากภายนอก

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า มาตรการภาษีใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “เก็บภาษีทุกทิศ” ของสหรัฐ โดยตั้งต้นจากการเก็บภาษีนำเข้าขั้นพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้าทุกประเภทจากทุกประเทศ และเลือกใช้อัตราพิเศษกับประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐ อย่างไทย จีน และเวียดนาม โดยไทยถูกจัดเก็บในอัตรา 36% สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในเอเชีย

ไทยต้องเร่งหาตลาดใหม่ - ขยายการค้าดิจิทัล

ผศ.ดร.ณัฐพล ระบุว่า แม้ไทยยังไม่ถูกกระทบทันทีจากมาตรการภาษี แต่หากไม่เร่งปรับตัวภายในไตรมาสนี้ อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และภาพรวมส่งออกของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวทางรับมือที่ไทยควรเร่งดำเนินการ ได้แก่ เร่งเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และแอฟริกา, พัฒนาช่องทางส่งออกผ่านดิจิทัล เช่น PromptTrade และระบบ Trade Digitization , สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย

โดยเฉพาะในภาคเกษตรและการแปรรูปสินค้า ให้เข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น, การกระจายโอกาสสู่กลุ่มฐานราก เป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงของประเทศจากแรงปะทะภายนอก และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจากข้างล่างขึ้นบน

ปมภาษีดิจิทัลยังแก้ไม่ตก-รัฐสูญ 7 หมื่นล.

นอกจากมาตรการภาษีนำเข้าจากภายนอก ไทยยังเผชิญแรงกดดันภายในจากการจัดเก็บภาษีดิจิทัลที่ยังไม่ทั่วถึง โดยปัจจุบันสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากบริการดิจิทัลข้ามชาติได้เพียง 3,000 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งที่ประเมินว่าควรเก็บได้ถึง 70,000 ล้านบาทต่อปีนับเป็นรายได้ภาครัฐที่รั่วไหลในระดับโครงสร้างและควรได้รับการปฏิรูปเร่งด่วน

ขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกหลักของไทยอย่าง อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และเซมิคอนดักเตอร์ กำลังเผชิญแรงเสียดทานจากมาตรการภาษีดังกล่าว โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ ขณะที่สินค้าเกษตรอย่างข้าว แม้ยังมีโอกาส แต่มีสัดส่วนส่งออกไม่มากนัก โดยในไตรมาสล่าสุด ข้าวอยู่อันดับ 9 ของสินค้าส่งออกไทย

จีดีพีอาจลดลง 2.5% หากส่งออกสะดุด

หากไทยไม่สามารถเร่งปรับตัวทันกับสถานการณ์ และหากมาตรการภาษีใหม่ของสหรัฐ บั่นทอนยอดส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ จีดีพีของไทยอาจหดตัวลงถึง 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เพียงพอจะรักษาเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ดีป้า มองว่า การแข่งขันในภูมิภาคกำลังรุนแรงขึ้น "เวียดนาม" เป็นประเทศที่หลายชาติ รวมถึงสหรัฐมองเป็นฐานผลิตใหม่แทนจีน โดยมีสัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีสูงถึง 90% ขณะที่ ไทยยังไม่มีจุดยืนชัดเจนในเวทีเศรษฐกิจโลกว่าจะเป็นผู้นำในด้านใด เช่น เทคโนโลยีเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป หรืออิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง

ดังนั้น ทางออกที่เป็นรูปธรรม คือการเร่งสร้าง National Single Window เพื่อให้การส่งออกเป็นระบบอัตโนมัติ ลดต้นทุน เพิ่มความโปร่งใส และขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงตลาดต่างประเทศ

อีกแนวทางหนึ่ง คือ พัฒนาสินค้าใหม่ เช่นการแปรรูปข้าวเป็นแป้งทดแทนแป้งสาลีสำหรับอุตสาหกรรมอาหารตะวันตก ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรพื้นฐาน และขยายตลาดใหม่ที่ยังไม่มีคู่แข่งมาก

ไทยเตรียมรับแรงกระแทกจำกัดชิป AI

ด้าน ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี และหนึ่งในนักวิชาการด้านเทคเอไอของไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ในประเด็นที่ สหรัฐ อาจจำกัดการส่งออกชิปเอไอมายัง “ไทย” และ “มาเลเซีย” เพื่อไม่ให้เป็นทางผ่านส่งต่อไปยังจีนว่า เรื่องนี้สำคัญ เพราะหากไทยถูกเพิ่มในบัญชีควบคุมการส่งออกชิปขั้นสูงของสหรัฐจริง จะกระทบโดยตรงและสะเทือนต่อระบบนิเวศ เอไอ ของประเทศในหลายประเด็น

โดยเฉพาะ การเข้าถึงชิป เอไอ ประสิทธิภาพสูง เช่น Nvidia H100 หรือ AMD MI300X จะถูกจำกัดอย่างมาก ส่งผล กระทบต่อศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ ผู้ให้บริการคลาวด์ และสถาบันวิจัยที่ต้องการพลังการประมวลผลระดับสูงสำหรับการฝึกอบรมโมเดล เอไอ ขนาดใหญ่และการประมวลผลที่ซับซ้อน

ขณะที่ การจำกัดการเข้าถึงจะทำให้ต้นทุนของฮาร์ดแวร์ เอไอ ขั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และระยะเวลาสั่งซื้อสินค้าจะยาวนานขึ้น เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและอุปทานที่จำกัด และต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น

ทั้งยังเป็นการลดขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการวิจัยและพัฒนา เอไอ ของไทย เนื่องจากนักวิจัยและนักพัฒนาจะไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่ จำเป็นสำหรับการทดลองและสร้างสรรค์นวัตกรรม เอไอ ที่ทันสมัยได้

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการคลาวด์และบริษัทอื่นๆ ที่ดำเนินงานในไทย อาจต้องเผชิญภาระการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น ข้อกำหนดตรวจสอบผู้ใช้ปลายทาง เพื่อให้มั่นใจว่าชิปถูกนำไปใช้ในสถานที่ที่ได้รับอนุมัติเท่านั้น

"ประเทศไทย ยังมีความเสี่ยงจากการเป็น จุดส่งต่อ สำหรับการลักลอบนำชิปเอไอ ไปยังจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้นและมาตรการควบคุมเพิ่มเติมจากสหรัฐ"

นอกเหนือ จากผลกระทบโดยตรงแล้วการถูกเพิ่มในบัญชีควบคุมชิปขั้นสูงยังนำมาซึ่งผลกระทบทางอ้อมและความท้าทายเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น อาจเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่มีอยู่กับบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐ และพันธมิตร อาจกระทบต่อการขยายตัวศูนย์ข้อมูลและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอไอ

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องพิจารณากลยุทธ์การกระจายแหล่งจัดหาฮาร์ดแวร์ เอไอ ซึ่งอาจรวมถึงการสำรวจทางเลือกจากผู้ผลิตจีน (เช่น Huawei Ascend, Biren, Moore Threads) หรือผู้ผลิตจากประเทศอื่นๆ ประเทศไทย ยังมีความกดดันเพิ่มขึ้นในการพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบชิปและการผลิตภายในประเทศ แม้ว่านี่ จะเป็นความพยายามระยะยาวที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง

ดร.ธนชาติ ทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐฯ และจีน ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนในบริบทความขัดแย้งทางเทคโนโลยีที่ทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น จะเห็นชัดเจนว่า หากสหรัฐ ดำเนินมาตรการจำกัดการส่งออกชิปเอไอต่อประเทศไทย จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 9 ก.ค. 2568


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2025-07-09 08:50:42
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com