‘การ์ทเนอร์’ เปิด 10 'เทรนด์เทคโนโลยี' เขย่าลงทุนไอที ‘ภาครัฐ’



การ์ทเนอร์ เผย 10 'เทรนด์เทคโนโลยี' ที่มีความสำคัญต่อกิจการภาครัฐปี 2566 แนวทางที่ผู้นำองค์กรควรให้ความสำคัญเพื่อผลักดันกระบวนการเปลี่ยนผ่านและเตรียมพร้อมไปสู่รัฐบาลหลังยุคดิจิทัล (Post-Digital Government)

อาร์เธอร์ มิคโคลีท ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ เปิดมุมมองถึง 'เทรนด์เทคโนโลยี' ว่า ความวุ่นวายทั่วโลกและการหยุดชะงักทางเทคโนโลยีในปัจจุบันไม่เพียงแต่กำลังกดดันรัฐบาลให้ต้องหาทางออกเพื่อปรับสมดุลระหว่างโอกาสและความเสี่ยงทางดิจิทัลเท่านั้น

แต่ยังให้โอกาสสำคัญสำหรับเปลี่ยนแปลงรัฐบาลดิจิทัลไปสู่ยุคถัดไป ซึ่งผู้บริหารไอทีต้องแสดงให้เห็นว่าการลงทุนดิจิทัลของพวกเขานั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่กลยุทธ์ทั่วๆ ไป

พิทักษ์ ‘ซิเคียวริตี้’ องค์กร

สำหรับเทคโนโลยีที่ ซีไอโอ ภาครัฐควรพิจารณาและนำมาปรับใช้ เพื่อปรับปรุงความสามารถทางธุรกิจ บรรลุภารกิจสำคัญของผู้นำ และสร้างองค์กรรัฐที่พร้อมสำหรับอนาคตยิ่งขึ้น ประกอบด้วย


Adaptive Security : การ์ทเนอร์คาดว่า ปี 2568 ราว 75% ของซีไอโอในองค์กรภาครัฐจะมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการรักษาความปลอดภัย โดยจะมีทั้งเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยของการปฏิบัติงานต่างๆ เทคโนโลยีที่แวดล้อมภารกิจสำคัญขององค์กร

รวมไปถึงการผสานรวมข้อมูลองค์กร ความเป็นส่วนตัว ซัพพลายเชน ระบบไซเบอร์และกายภาพ (Cyber-Physical Systems : CPS) และระบบคลาวด์ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างบูรณาการ

ซีไอโอ ควรเชื่อมโยง Adaptive Security ให้มีขอบเขตกว้างขึ้นไปถึงนวัตกรรมดิจิทัล การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ภารกิจด้านความมั่นคงของชาติ และเป้าหมายในการสร้างความยืดหยุ่นขององค์กรมากยิ่งขึ้น


ปรับตัวมุ่งสู่ ‘คลาวด์’

Cloud-Based Legacy Modernization : รัฐบาลถูกกดดันให้รื้อระบบเก่า ระบบแบบไซโลต่างๆ และการจัดเก็บฐานข้อมูล เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอทีและแอปพลิเคชันให้ทันสมัย รวมถึงเพื่อให้มั่นใจว่าบริการภาครัฐมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

การ์ทเนอร์คาดว่าภายในปี 2568 กว่าครึ่งของงานที่ต้องทำขององค์กรภาครัฐมากกว่า 75% จะใช้ผู้ให้บริการคลาวด์แบบไฮเปอร์สเกล

Sovereign Cloud : ความปั่นป่วนทั่วโลก ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลที่เกินขอบเขต ส่งผลให้มีความต้องการอธิปไตยบนคลาวด์ (Sovereign Cloud) มากขึ้น

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 มากกว่า 35% ของแอปพลิเคชันรัฐรุ่นเก่าๆ จะถูกแทนที่ด้วยโซลูชันต่างๆ ที่พัฒนาด้วยแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันแบบ Low-Code และดูแลโดยทีมงานแบบผสมผสาน (Fusion Team)

เพิ่มลงทุน ‘ออโตเมชัน-เอไอ’

Hyperautomation : การ์ทเนอร์ ระบุว่าภายในปี 2569 องค์กรภาครัฐ 60% จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบอัตโนมัติในกระบวนการทำงาน เพิ่มขึ้นจาก 35% ในปี 2565

โดยการริเริ่มโครงการไฮเปอร์ออโตเมชั่น (Hyperautomation) ใหม่ๆ จะช่วยสนับสนุนการทำงานและกระบวนการไอทีภาครัฐ สำหรับการให้บริการสาธารณะที่เชื่อมต่อและลื่นไหลแก่ประชาชน

AI for Decision Intelligence : ภายในปี 2567 การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า 60% ของการลงทุนกับเอไอและการวิเคราะห์ข้อมูลของรัฐบาลจะส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจและผลลัพธ์การปฏิบัติงานแบบเรียลไทม์

โดยเอไอเพื่อการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด (AI For Decision Intelligence) จะช่วยให้รัฐบาลตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ทันท่วงทีในระดับที่เหมาะสม

ซีไอโอ ต้องพร้อมสำหรับการนำเอไอมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยตรวจสอบให้มั่นใจว่ามีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจและเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ

ก้าวใหม่การใช้ ‘ข้อมูล’

Data Sharing as a Program : การใช้ข้อมูลร่วมกัน (Data sharing) ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ขององค์กรภาครัฐนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการสำหรับการนำข้อมูลมาใช้และวิเคราะห์

ภายในสิ้นปี 2566 นี้ การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า 50% ขององค์กรภาครัฐจะจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจด้านแบ่งปันข้อมูลอย่างจริงจัง รวมถึงมาตรฐานโครงสร้างข้อมูล คุณภาพและทันเวลา

Total Experience หรือ TX : ภายในปี 2569 แนวทางการสร้างประสบการณ์ภาพรวมของรัฐบาล (Total Experience หรือ TX) จะลดความคลุมเครือในกระบวนการทำงานลงถึง 90%

ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มมาตรวัดความพึงพอใจทั้งประสบการณ์ของประชาชนหรือผู้ใช้บริการภาครัฐ (CX) และประสบการณ์ของพนักงานหรือข้าราชการ (EX) ขึ้นถึง 50%

มิติใหม่ ‘บริการดิจิทัล’

Digital Identity Ecosystems : การ์ทเนอร์คาดว่า ภายในปี 2567 มากกว่า 1 ใน 3 ของหน่วยงานภาครัฐระดับประเทศจะใช้วอลเล็ตแบบระบุอัตลักษณ์บุคคล

โดยรัฐบาลกำลังเผชิญกับความรับผิดชอบรูปแบบใหม่ของการระบุอัตลักษณ์ดิจิทัลผ่านระบบนิเวศต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ หรือ Emerging Digital Identity Ecosystems ที่มาพร้อมกับความคาดหวังว่า ระบบต้องมีความปลอดภัย มีนวัตกรรมทันสมัย และสามารถนำไปใช้ในภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงการเดินทางข้ามพรมแดน

หากภาครัฐต้องการบรรลุเป้าหมายนี้ ต้องทำให้ข้อมูลอัตลักษณ์ดิจิทัลที่มีความสำคัญสูงนี้เข้าถึงได้ง่ายและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายหลากหลายที่เป็นผู้ใช้ปลายทางรวมถึงผู้ให้บริการต่างๆ

Case Management as a Service (CMaaS) : การบูรณาการของบริการภาครัฐขึ้นอยู่กับการออกแบบและพัฒนาโซลูชั่นการจัดการเป็นกรณี (Case Management) ให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถประกอบรวมกันได้

การ์ทเนอร์ คาดว่า ภายในปี 2567 หน่วยงานรัฐที่ใช้แนวทางการจัดการแบบประกอบกัน (หรือ Composable Case Management) จะปรับใช้ฟีเจอร์ใหม่ได้เร็วกว่าหน่วยงานอื่นที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกันถึง 80%

Composable Government Enterprise : รัฐบาลสามารถประสบความสำเร็จและทลายกรอบการทำงานแบบเก่า ระบบทำงานไซโล และรูปแบบการเก็บข้อมูลได้

โดยใช้สถาปัตยกรรมที่สามารถนำมาประกอบกันได้ (Composable Architecture) กับสถาปัตยกรรมแอปพลิเคชัน ควบคู่ไปกับความสามารถของระบบอัตโนมัติและแมชีนเลิร์นนิง

ซีไอโอ ควรใช้เทรนด์เหล่านี้ปรับองค์กรรัฐให้ทันสมัย (Modernization) มีข้อมูลเชิงลึก (Insights) และเปลี่ยนผ่านให้ทันโลก (Transformation)

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2023-05-26 02:51:20
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com