ท่ามกลางความวิตกกังวลทั่วโลกว่าปัญญาประดิษฐ์
(AI)
จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์และกดดันค่าจ้างให้ต่ำลง
รายงานวิจัยฉบับใหม่ล่าสุดจาก PwC บริษัทที่ปรึกษาและตรวจสอบบัญชีระดับโลก
กลับค้นพบข้อมูลที่สวนทางความเชื่อดังกล่าว โดยชี้ว่า AI กำลังทำให้พนักงาน
‘มีคุณค่ามากขึ้น แทนที่จะน้อยลง’
และยังเป็นตัวเร่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพและค่าจ้างในอุตสาหกรรมที่เปิดรับเทคโนโลยีนี้อย่างจริงจัง
รายงาน 2025
AI Jobs Barometer ของ PwC ซึ่งวิเคราะห์จากประกาศรับสมัครงานกว่า
800 ล้านตำแหน่ง และรายงานทางการเงินของบริษัทหลายพันแห่งทั่วโลก ได้ท้าทาย 6
ความเชื่อผิดๆ ที่ผู้คนมักมีต่อ AI พร้อมเสนอแนะให้องค์กรปรับมุมมองและใช้
AI เป็น กลยุทธ์เพื่อการเติบโต
ไม่ใช่แค่กลยุทธ์เพื่อประสิทธิภาพ
โจ แอตกินสัน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่าย AI ระดับโลกของ PwC
กล่าวกับ CNBC ว่า
“สิ่งที่ทำให้ผู้คนตื่นตระหนกในสภาวะแวดล้อมเช่นนี้คือความเร็วของนวัตกรรมเทคโนโลยี
ซึ่งเป็นความจริงที่ว่ามันเคลื่อนที่ไปเร็วมากจริงๆ
ในอัตราที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน” แต่เขาก็ย้ำว่า “สิ่งที่รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็น
จริงๆ แล้วคือ AI กำลังสร้างงาน”
แครอล สตับบิงส์
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ระดับโลกของ PwC สหราชอาณาจักร
กล่าวเสริมในรายงานว่า “เรารู้ว่าทุกครั้งที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม
จะมีงานใหม่ถูกสร้างขึ้นมากกว่าที่สูญเสียไป ความท้าทายคือ
ทักษะที่คนทำงานต้องการสำหรับงานใหม่ๆ นั้นอาจแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น
เราเชื่อว่าความท้าทายไม่ใช่การจะไม่มีงาน แต่คือการที่คนทำงานต้องเตรียมพร้อมที่จะรับงานเหล่านั้น”
ล้ม 6 ความเชื่อผิดๆ
เมื่อข้อมูลจริงสวนทางความกลัว
รายงานฉบับนี้ได้หักล้าง 6
ความเชื่อยอดนิยมเกี่ยวกับ AI ดังนี้
ด้านผลิตภาพ (Productivity)
มีความเชื่อว่า AI
ยังไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลิตภาพ
แต่รายงานพบว่าตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา
การเติบโตของผลิตภาพในอุตสาหกรรมที่พร้อมจะนำ AI มาใช้มากที่สุดได้เพิ่มขึ้นเกือบ
4 เท่า ที่น่าสนใจคือ อุตสาหกรรมที่เปิดรับ AI มากที่สุด
เช่น การผลิตซอฟต์แวร์ แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของรายได้ต่อพนักงานสูงกว่าถึง 3
เท่า ตามข้อมูลของ PwC
ด้านค่าจ้าง (Wages)
มีความเชื่อว่า AI
อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างและอำนาจต่อรองของคนทำงาน
แต่จริงๆ แล้วข้อมูลของ PwC
แสดงให้เห็นว่า ค่าจ้างของพนักงานที่มีทักษะ AI โดยเฉลี่ย สูงกว่าพนักงานที่ไม่มีทักษะนี้ถึง 56% ในตำแหน่งงานเดียวกัน
ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 25% ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ ค่าจ้างในอุตสาหกรรมที่เปิดรับ AI
สูงสุด ยังเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุตสาหกรรมที่เปิดรับน้อยที่สุดถึง 2
เท่า
ด้านจำนวนงาน (Job
Numbers)
อีกหนึ่งความเชื่อผิดๆ ที่สำคัญคือ AI
อาจทำให้จำนวนตำแหน่งงานลดลง แต่รายงานพบว่า
ในขณะที่ตำแหน่งงานที่มีความเสี่ยงต่อ AI ต่ำมีการเติบโตของงานอย่างแข็งแกร่งถึง
65% ในช่วงระหว่างปี 2019 ถึง 2024
การเติบโตของตำแหน่งงานที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีสูงกว่าก็ยังคงแข็งแกร่ง (Robust)
แม้จะช้ากว่า โดยเติบโตอยู่ที่ 38%
ด้านความเท่าเทียม (Inequality)
ก่อนหน้านี้มีความเชื่อว่า AI
อาจซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสและค่าจ้างของคนทำงาน
แต่ผลการศึกษาพบว่าค่าจ้างและการจ้างงานต่างก็เพิ่มขึ้นสำหรับงานที่สามารถเสริมศักยภาพ
(Augmentable) และทำให้เป็นอัตโนมัติ (Automatable) ด้วยเทคโนโลยีได้
รายงานยังชี้ว่าความต้องการวุฒิการศึกษาที่เป็นทางการจากนายจ้างกำลังลดลงอย่างรวดเร็วในตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับ
AI ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสที่กว้างขึ้นสำหรับคนนับล้าน
ด้านทักษะ (Skills)
อีกหนึ่งความกังวลคือ AI
อาจลดทอนทักษะ (Deskill) ของงานที่มันเข้ามาทำโดยอัตโนมัติ
ขณะที่รายงานพบว่าในทางกลับกัน AI สามารถเพิ่มคุณค่า (Enrich)
ให้กับงานที่ทำโดยอัตโนมัติได้
โดยช่วยให้พนักงานพ้นจากภาระงานที่ซ้ำซากและน่าเบื่อ
เพื่อไปฝึกฝนทักษะที่ซับซ้อนขึ้นและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ตัวอย่างเช่น
พนักงานคีย์ข้อมูลสามารถพัฒนาไปสู่บทบาทที่มี “คุณค่าสูงขึ้น”
อย่างนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) ได้
ด้านระบบอัตโนมัติ (Automation)
สุดท้ายคือ ความเชื่อที่ว่า AI
อาจลดคุณค่า (Devalue) ของงานที่มันเข้ามาทำโดยอัตโนมัติในระดับสูง
แต่ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า
ไม่เพียงแต่ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นสำหรับงานที่ถูกทำให้เป็นอัตโนมัติในระดับสูง
แต่เทคโนโลยียังเข้ามา
ปรับเปลี่ยนรูปแบบงานเหล่านี้ให้มีความซับซ้อนและสร้างสรรค์มากขึ้น และท้ายที่สุด
ทำให้คนทำงานมีคุณค่ามากขึ้น
การเติบโตของงานที่ ‘ชะลอลง’
อาจเป็นเรื่องดี?
รายงานยังนำเสนออีกมุมมองที่น่าสนใจว่า
ในโลกที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลง การที่ AI
ทำให้การเติบโตของตำแหน่งงานบางกลุ่มชะลอตัวลง อาจกลายเป็น
‘เรื่องที่เป็นประโยชน์’ ต่อประเทศเหล่านั้น
แอตกินสันอธิบายว่า
การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพจาก AI สามารถสร้าง
‘ผลกระทบแบบทวีคูณ’ (Multiplier Effect) ต่อกำลังคนที่มีอยู่
และช่วยเติมเต็มช่องว่างแรงงานที่บริษัทอาจไม่สามารถหามาเติมได้
ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจโดยรวม
“ผมคิดว่ามันสามารถและจะเป็นสิ่งที่ดีได้อย่างแน่นอน” เขากล่าว
ท้ายที่สุด
รายงานฉบับนี้ได้ให้ข้อสรุปเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญแก่องค์กรต่างๆ ว่า ควรจะมอง AI
“ในฐานะกลยุทธ์เพื่อการเติบโต
ไม่ใช่แค่กลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ (ลดต้นทุน)”
แทนที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อลดจำนวนพนักงาน
บริษัทควรช่วยเหลือพนักงานให้ปรับตัวและทำงานร่วมกับ AI เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ
สร้างตลาดใหม่ และสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ
“เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงกับดักของการมีความทะเยอทะยานที่ต่ำ
แทนที่จะจำกัดมุมมองของเราอยู่แค่การทำให้งานของเมื่อวานเป็นอัตโนมัติ
เรามาสร้างงานใหม่และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตกันเถอะ” รายงานระบุ
“หากใช้อย่างมีจินตนาการ AI สามารถจุดประกายให้เกิดงานใหม่และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ
ได้อย่างเบ่งบาน ตัวอย่างเช่น 2 ใน 3 ของงานในสหรัฐอเมริกาวันนี้
ไม่ได้มีอยู่เลยในปี 1940 และงานใหม่ๆ
เหล่านี้จำนวนมากก็เกิดขึ้นได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี”
ที่มา : The standard
วันที่ 11 มิถุนายน 2568