จากเรื่องเทคโนโลยีใหม่เอื้อให้เข้าสหรัฐสะดวก


สหรัฐเข้ายากสำหรับคนไทย เริ่มจากกระบวนการอันยาวนานของการขอวีซ่า จนกระทั่งตอนสุดท้ายเมื่อเดินทางไปถึง ซึ่งมักจะต้องต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอรับการตรวจหนังสือเดินทางและวีซ่า ตามด้วยการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ศุลกากร

ผมเดินทางเข้าสหรัฐนับร้อยครั้งหลังไปอาศัยอยู่ที่นั่นกว่า 50 ปี กระบวนการดังกล่าวนี้แทบไม่เปลี่ยน เนื่องจากผมยังถือหนังสือเดินทางไทยแม้หลังเป็นผู้สูงวัยจะได้รับ “ใบเขียว” หรือวีซ่าถาวรแล้วก็ตาม จนกระทั่งเมื่อผมมาเมืองไทยครั้งล่าสุดและเพิ่งเดินทางกลับไปสหรัฐเมื่อวันที่ 4 มี.ค.

การเดินทางเข้าสหรัฐครั้งนี้ผมจำใจต้องไปเข้าที่เมืองแอตแลนตา ทั้งที่พยายามเลี่ยงที่นั่นเนื่องจากท่าอากาศยานมีขนาดใหญ่และสายการบินใช้มากไม่ต่างกับท่าอากาศยานของมหานครนิวยอร์ก ทั้งนี้เพราะสายการบินทำผิดพลาดส่งผลให้ผมหมดโอกาสเลือก

ผมแปลกใจเมื่อไปถึงเนื่องจากแถวที่รอตรวจหนังสือเดินทางไม่ยาวตามคาด ทั้งที่เป็นช่วงก่อนเที่ยงวัน ซึ่งสายการบินเข้ามากและมีเจ้าหน้าที่ตรวจหนังสือเดินทางนั่งทำงานอยู่เพียง 3 คน ยิ่งกว่านั้น ผมนำกระเป๋าสัมภาระเดินผ่านด่านศุลกากรได้โดยไม่มีการตรวจตรา

ในความสะดวกเกินคาดนั้น ผมสังเกตเห็นความแตกต่าง 2 ด้านระหว่างครั้งนี้และครั้งที่แล้วๆ มา ซึ่งล่าสุดผมมาเมืองไทยเมื่อปีที่แล้วและกลับสหรัฐในเดือน มิ.ย. นั่นคือการใช้กล้องมองหน้าผู้เดินทางในระหว่างตรวจหนังสือเดินทาง

เจ้าหน้าที่ให้ผมมองกล้องโดยไม่ต้องเปิดหนังสือเดินทางให้ดูแล้วถามผมความว่า “ไสวใช่ไหม?” หลังผมตอบว่าใช่ เขาถามต่อว่า “เอาใบเขียวมาด้วยใช่ไหม?” ผมตอบว่าใช่ พร้อมกับจะแสดงให้เขาดู

เขาบอกผมว่า “คุณไปได้” ผมสังเกตว่า คนข้างหน้าผม นานๆ จึงจะถูกเขาถามมากกว่านั้น หรือให้แสดงเอกสารเดินทาง แต่ละคนน่าจะใช้เวลาเฉลี่ยราว 1 นาที

เมื่อผมเข้าไปรอเอากระเป๋าสัมภาระ ผมเห็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรพาสุนัขตัวเล็กๆ เดินดมกระเป๋าที่เข้ามาตามสายพานและที่วางอยู่ตามพื้น ผมสังเกตว่าสุนัขมาหยุด ณ กล่องใหญ่กล่องหนึ่ง เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มเปิดกล่องก็พอดีผมได้กระเป๋า จึงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ส่วนผู้ที่รับกระเป๋าพร้อมๆ กับผมก็เดินผ่านด่านศุลกากรได้โดยไม่มีใครถูกเรียกตรวจ

โลกมีเทคโนโลยีใหม่ ที่ใช้มองหน้าคนแล้วรู้ว่าเป็นใครมาหลายปีแล้ว ผมทราบเพราะผมมาเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อนโดยผ่านสนามบินฮ่องกง

ในระหว่างเดินไปท่ามกลางฝูงชน มีเจ้าหน้าที่เข้ามาบอกให้ผมถอดหมวกออกตามข้อบังคับของสนามบิน แต่ผมเพิ่งเห็นนำมาใช้ในการตรวจคนเข้าเมืองแบบจริงจังเป็นครั้งแรก

ส่วนสุนัข ผมเห็นสหรัฐใช้มาหลายครั้งแล้ว แต่ศุลกากรยังมักเรียกตรวจและผมเคยถูกเรียกให้รอตรวจเป็นชั่วโมงทั้งที่ไม่เคยมีอะไรผิดกฎหมายอยู่ในกระเป๋า

ประสบการณ์ครั้งนี้ยืนยันอีกครั้งว่า เทคโนโลยีมีประโยชน์มหาศาลหากใช้มันด้วยสัมมาเจตนา อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้แทนที่จะมีรายงานเรื่องการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อแก้ปัญหาใหญ่ อันเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างประชาชนวัยทำงานกับจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นแบบไม่หยุดยั้ง

กลับมีแต่รายงานเกี่ยวกับการใช้มันไปในทางร้ายไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะเรื่องการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งผมมองว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมมนุษย์จนเป็นคลื่นลูกที่ 4 เพื่อหลอกเอาทรัพย์สินของผู้รู้ไม่เท่าทัน

คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 3 ก.พ. แสดงความวิตกว่า ถ้าบริษัทต่างๆ แข่งขันกันขายผลผลิตจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยวิธีลดมาตรฐานทางจรรยาบรรณของการควบคุมผลกระทบ โลกของเราอาจเดินเข้าภาวะหายนะได้ในเร็ววัน

หลังจากนั้น รายงานบ่งชี้ว่าการลดมาตรฐานทางจรรยาบรรณดูจะกำลังเกิดขึ้นจริง ทั้งที่มีรายงานว่าไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ที่ใช้เงินทุนมหาศาลพัฒนาปัญญาประดิษฐ์พยายามจะยับยั้งผลกระทบของมันแบบเต็มกำลัง

ในขณะนี้ โลกจึงมีการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายมีเจตนาดีกับฝ่ายมีเจตนาร้ายในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ผู้ชนะจะกำหนดอนาคตของมนุษยชาติ.

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 10 มีนาคม 2566


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2023-04-18 02:31:52
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com