Samsung
Electronics กำลังเผชิญกับ ‘มรสุมรุมเร้า’
เมื่อโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเม็ดเงินลงทุนกว่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์
(ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท)
และได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ
ต้องเลื่อนกำหนดการแล้วเสร็จออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ลึกลงไปสาเหตุกลับไม่ใช่ปัญหาการก่อสร้าง
แต่เป็นเพราะยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้รายนี้กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อหาลูกค้ามารองรับกำลังการผลิต
แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้เปิดเผยกับ
Nikkei
Asia ว่า “กระบวนการ (สร้างโรงงานให้เสร็จสมบูรณ์)
ล่าช้าเพราะยังไม่มีลูกค้า ตอนนี้ Samsung ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จะทำอะไรได้
แม้จะนำเครื่องจักรเข้ามาติดตั้งในตอนนี้ก็ตาม”
ปัญหานี้ตอกย้ำถึงภาวะที่น่าอึดอัดใจ
เมื่อโรงงานที่ควรจะเป็นหัวหอกสำคัญกลับต้องหยุดชะงักเพราะ ‘ไร้เงาลูกค้า’
ที่จะมาใช้บริการ
ผู้บริหารในห่วงโซ่อุปทานชิปรายหนึ่งกล่าวว่า
Samsung
ซึ่งมีโรงงานอีกแห่งในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส อยู่แล้วนั้น
ไม่ได้เร่งรีบที่จะติดตั้งเครื่องจักรผลิตชิปในโรงงานแห่งใหม่
“ความต้องการชิปในท้องถิ่นไม่ได้แข็งแกร่งเป็นพิเศษ และเทคโนโลยีกระบวนการผลิตที่ Samsung
วางแผนไว้เมื่อหลายปีก่อนก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันอีกต่อไป”
เขาเสริมว่า
“อย่างไรก็ตาม
การยกเครื่องโรงงานใหม่ทั้งหมดจะเป็นโครงการที่ใหญ่และมีค่าใช้จ่ายสูง
ดังนั้นบริษัทจึงใช้แนวทาง ‘รอดูท่าที’ ไปก่อนในตอนนี้”
เดิมที
Samsung
วางแผนที่จะนำเสนอชิปเซ็ตขนาด 4 นาโนเมตร
แต่ภายหลังได้เปลี่ยนแผนเพื่อรวมชิปขั้นสูงขนาด 2
นาโนเมตรเข้าไปด้วยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
แม้ว่าเอกสาราก
Samsung
C&T บริษัทในเครือที่รับผิดชอบการก่อสร้าง
จะระบุว่าการก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้วถึง 91.8% ณ เดือนมีนาคม
และกำหนดการเดิมจะเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน 2024
ก่อนจะเลื่อนเป็นสิ้นเดือนตุลาคมปีนี้
แต่การติดตั้งเครื่องจักรสำคัญกลับยังไม่เกิดขึ้น
ทาง
Samsung
Electronics ยืนยันกับ Nikkei Asia ว่าบริษัทยังคงวางแผนที่จะเปิดโรงงานแห่งนี้ในปี
2026 และกล่าวว่าโครงการกำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น
แต่ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการหาลูกค้าหรือกรอบเวลาที่ชัดเจนในการติดตั้งเครื่องจักร
ความล่าช้านี้เกิดขึ้นในขณะที่
Samsung
กำลังดิ้นรนเพื่อลดช่องว่างกับคู่แข่งตลอดกาลอย่าง Taiwan
Semiconductor Manufacturing Co. (TSMC) ซึ่งครองตลาดรับจ้างผลิตชิปด้วยส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกถึง
67.6% ในไตรมาสแรก ขณะที่ Samsung มีส่วนแบ่งเพียง
7.7% ตามข้อมูลของ TrendForce
‘เงาของคู่แข่ง’ อย่าง TSMC ยิ่งทำให้สถานการณ์ของ Samsung
ดูท้าทายมากขึ้น แม้โรงงานแห่งแรกของ TSMC ในรัฐแอริโซนาจะเผชิญกับความล่าช้าในการก่อสร้างและปัญหาการขาดแคลนแรงงานเช่นกัน
แต่ในที่สุดโรงงานดังกล่าวก็สามารถเข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้เมื่อปลายปีที่แล้ว
และยังสามารถคว้าลูกค้ารายใหญ่ในวงการชิป
AI
ได้ทั้ง Nvidia, AMD, Amazon และ Google
ยิ่งไปกว่านั้น TSMC ยังได้ประกาศลงทุนเพิ่มอีก
1
แสนล้านดอลลาร์เมื่อต้นปีนี้เพื่อสร้างโรงงานผลิตและบรรจุชิปขั้นสูงในแอริโซนาอีกด้วย
Joanne
Chiao นักวิเคราะห์จาก TrendForce กล่าวกับ Nikkei
Asia ว่าธุรกิจรับจ้างผลิตชิปของ Samsung ประสบปัญหาสำคัญเรื่องคุณภาพ
โดยมีสัดส่วนการผลิตชิปที่ได้มาตรฐาน (yield) ต่ำกว่าเกณฑ์
ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของอุตสาหกรรมนี้
“โรงงานของ Samsung เผชิญกับอัตราผลผลิตที่ไม่แน่นอนและการสูญเสียคำสั่งซื้อ
แม้ว่าอัตราผลผลิตจะดีขึ้นแล้ว แต่ข้อจำกัดของสหรัฐฯ
ในการผลิตชิประดับไฮเอนด์สำหรับจีนก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อบริษัท
ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม”
ที่มา
: The standard
วันที่
7 ก.ค. 2568