5 อันดับเทรนด์การใช้หุ่นยนต์มาแรงประจำปี 2024


ปัจจุบันเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินั้นได้กลายมาเป็นหัวใจสำคัญที่ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าใหม่ ๆ ขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการผลิตรอบโลก ด้วยความสามารถในการลดต้นทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้หุ่นยนต์กลายมาเป็นปัจจัยหลักที่ทุกโรงงานต้องเร่งลงทุนเพิ่มขึ้นหากต้องการจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจของตนเอง

ท่ามกลางเทรนด์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทหลาย ๆ แห่งเองก็อาจจะกำลังสงสัยว่าเทรนด์เทคโนโลยีประเภทใดที่องค์กรของตนควรให้ความสำคัญและเลือกลงทุนในปี 2024

ในวันนี้ MM Modern Manufacturing จึงได้รวบรวมเอารายการที่น่าสนใจของ 5 อันดับเทรนด์ด้านการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่กำลังเป็นที่นิยมในปี 2024 จากสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) มาไว้ให้ทุกท่านแล้วครับ

1. Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML)

การเข้ามาของเทคโนโลยี Generative AI อย่าง ChatGPT นั้นได้จุดประกายความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้อย่างมหาศาล โดยปัจจุบันการใช้ Generative AI เข้ามาเสริมในการพัฒนาระบบของหุ่นยนต์นั้นได้ทำให้การตั้งโปรแกรมหุ่นยนต์สามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายผ่านการใช้ภาษาธรรมชาติ (Natural Language) หรือภาษาทั่วไปที่เราใช้ในการพูดคุยสื่อสาร ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องมีทักษะในการการเขียนโปรแกรมเพื่อที่จะเข้าใจการสั่งการหุ่นยนต์เหมือนอย่างในอดีต

โดยนอกจากการตั้งโปรแกรมที่ง่ายขึ้นแล้ว การใช้ระบบ AI และ ML ยังช่วยให้โรงงานสามารถทำการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintainance) ได้ ซึ่งจะช่วยลด Downtime ที่เกิดขึ้นและลดต้นทุนที่ต้องใช้ในการดูแลรักษาเครื่องจักรลงได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้การมีระบบอัลกอริธึม Machine Learning อยู่ในสายการผลิตยังช่วยให้โรงงานสามารถปรับปรุงรูปแบบการทำงานของตนเองให้มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากขึ้นได้อีกด้วย

2. Collaborative Robots (Cobots)

นอกจากหุ่นยนต์ Robot ทั่วไปที่หลาย ๆ ท่านคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วในโรงงาน ปัจจุบันเทรนด์ของหุ่นยนต์ชนิดที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่าง Collaborative Robots หรือ ‘Cobots’ นั้นได้กลายมาเป็นประเภทของหุ่นยนต์ที่หลาย ๆ โรงงานต่างก็ให้ความสนใจกันมากขึ้นอย่างกว้างขวาง ด้วยการออกแบบที่เน้นไปที่ความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ทำให้ Cobot กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่หลาย ๆ โรงงานไว้ใจให้ทำงานอยู่เคียงข้างแรงงานของตนเอง

โดยเหล่าผู้ผลิตหุ่นยนต์ Cobot ก็ยังมีการขยายขอบเขตความสามารถของการใช้งาน Cobot ให้ครอบคลุมต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบันอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มการเติบโตของตลาด Cobot มีการเติบโตขึ้นจากมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022 ขึ้นไปสูงถึง 9.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ในปี 2028 และจะทำให้ Cobot สามารถเข้าไปมีบทบาทได้ทั้งในบริษัทระดับเล็ก-กลาง (SMEs) ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ (Large Enterprise Companies)

3. Mobile Manipulators (MoMas)

Mobile Manipulators (MoMas) หรือหุ่นยนต์แขนกลเคลื่อนที่ได้ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่องานอย่างการขนถ่ายวัสดุในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้นเป็นการผสมผสานเอาเทคโนโลยีอย่างแขนกลและแพลตฟอร์มหุ่นยนต์เข้ามาไว้ด้วยกัน ซึ่งช่วยให้ MoMas สามารถทำการเคลื่อนที่ผ่านสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนในโรงงานและจัดการวัตถุต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถเข้ามาช่วยในการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในสายการผลิตได้อีกด้วย

คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้หุ่นยนต์ MoMas สามารถนำมาใช้สนับสนุนการทำงานของมนุษย์ให้มีความต่อเนื่องมากขึ้นได้ โดยปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้เทคโนโลยี MoMas มีความต้องการมากขึ้นในตลาดอุตสาหกรรมรอบโลกก็มาจากปัญหาใหญ่อย่างการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและแรงงานทั่วไปในอุตสาหกรรมที่ทำให้ตลาดของหุ่นยนต์ MoMas ยิ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไปมากขึ้นตามไปด้วย

4. Digital Twins

เทคโนโลยี Digital Twin เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติผ่านการสร้างแบบจำลองเสมือนของหุ่นยนต์จากข้อมูลการปฏิบัติงานในโลกจริงขึ้นมา โดย Digital Twin นั้นสามารถช่วยให้โรงงานสามารถทำการทดสอบ จำลองและคาดการณ์ผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติงานขึ้นมาได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทดลองเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของสายการผลิตจริง เรียกได้ Digital Twin นั้นเป็นเสมือนสะพานเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างโลกดิจิทัลและโลกกายภาพที่ช่วยทั้งประหยัดต้นทุนและเพิ่มความปลอดภัยในการทดสอบระบบของโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. Humanoid Robots

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เทรนด์ของการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีรูปร่างคล้ายคลึงกับมนุษย์มากขึ้นนั้นได้กลายมาเป็นเรื่องที่พบเห็นได้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยสาเหตุหลักนั้นก็มาจากการที่หุ่นยนต์เหล่านี้มีความยืดหยุ่นในการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดีกว่าหุ่นยนต์ทั่วไปที่เราคุ้นชินนั่นเอง

หุ่นยนต์ Humanoid นั้นสามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้ได้ในงานหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นด้านการประกอบและหยิบจับสินค้า หรืองานบริการทั่วไป ซึ่งการมีรูปร่างที่คล้ายคลึงกับมนุษย์นั้นยังช่วยให้หุ่นยนต์ Humanoid สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมเดียวกับมนุษย์ได้ โรงงานและสายการผลิตต่าง ๆ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสายการผลิตและแรงงานมนุษย์เองก็จะไม่รู้สึกแปลกแยกจากการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างคล้ายคลึงกับตนเองด้วยเช่นกัน

โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) แห่งประเทศจีนนั้นยังได้คาดการณ์ว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเติบโตของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ Humanoid รอบโลกนั้นมีศักยภาพที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานและวิถีชีวิตของมนุษย์ได้มากพอ ๆ กับการเข้ามาของ Disruptive Technology ในอดีตอย่างคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนหรือรถยนต์พลังงานทางเลือกได้เลยทีเดียว

 

ที่มา : MMThailand

วันที่ 20 มีนาคม 2567


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : MMthailand
ข้อมูลวันที่ : 2024-03-20 08:33:59
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com