AI
เว้าอีสานก็มา! มข.พัฒนา AI “เว้าจา”
แปลงข้อความเป็น “เสียงพูดอีสาน” ที่แรกของไทย
นำร่องใช้บนรถขนส่งสาธารณะขอนแก่นซิตี้บัส สร้างอัตลักษณ์ชูความเป็นอีสาน –
อนุรักษ์ภาษาพื้นถิ่นด้วยเทคโนโลยี
การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ตกอยู่ในความสนใจของทั่วโลก
หลังเกิดเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกมนุษย์ ทั้งการแปลงเสียงเป็นข้อความ
แปลงข้อความเป็นภาพ หรือแปลงข้อความเป็นเสียง
แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการใช้งานและสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ และภาษาไทย
แนวคิดนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ
ดร.พงษ์ศธร จันทร์ยอย อาจารย์วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ม.ขอนแก่น พัฒนา “เว้าจา”
เอไอแปลงข้อความเป็นเสียงภาษาอีสาน
เพื่ออนุรักษ์รากทางวัฒนธรรมและภาษาถิ่นให้คงอยู่ด้วยเทคโนโลยี
การวิจัยเริ่มต้นด้วยการเก็บฐานข้อมูลเสียงภาษาอีสานตอนกลางจากเจ้าของภาษา
(Native
Speaker) มากกว่า 5,000 ประโยค ความยาวรวมกว่า 6 ชั่วโมง
ซึ่งใช้เวลาเก็บข้อมูลหลายเดือน เพื่อนำมาเข้าสู่การแทนเสียงด้วยแบบจำลองทางสถิติ
ให้สามารถสังเคราะห์เสียงได้เป็นธรรมชาติ เกิดเป็น AI แปลงเสียงเวอร์ชันแรก
ก่อนจะพัฒนามาเป็น เวอร์ชัน 2 หรือ
เว้าจา ในปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยี Deep Learning ให้เอไอสามารถแปลงข้อความเป็นการออกเสียงภาษาอีสานได้สมบูรณ์ ถูกต้อง
และสมจริงมากขึ้น รวมถึงเพิ่มเติมเสียงผู้หญิงเข้ามาให้ได้เลือกใช้งานกัน
“เว้าจา ใช้งานง่ายๆ เพียงพิมพ์คำอ่านภาษาอีสานลงไป เอไอจะสังเคราะห์เสียงภาษาอีสานทันที สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ล่าสุด รถขอนแก่นซิตี้บัส ก็นำเว้าจาไปใช้เป็นเสียงประกาศแจ้งจุดจอดตลอดเส้นทาง กลายเป็น Signature ขนส่งสาธารณะของขอนแก่นให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ใช้บริการประทับใจ” อ.ดร.พงษ์ศธร กล่าว