‘โซเชียลคอมเมิร์ซ’ กระแสร้อน พลิกเกมโลกการค้าออนไลน์



แม้การช้อปปิ้งออนไลน์จะกลายเป็นพฤติกรรมปกติที่ผู้บริโภคชาวไทยคุ้นชิน ทว่าในมุมของผู้ขายการสร้างยอดขาย มีหลายปัจจัยที่เข้ามาท้าทายความสามารถ

ที่น่าจับตามองคือ การเติบโตของ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” ที่กำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักทำให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซประเทศไทยเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ...

สวภพ ท้วมแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด (ZORT) แพลตฟอร์มบริหารจัดการออเดอร์และ สต๊อกครบวงจร (Seller Management Platform) วิเคราะห์อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซประเทศไทยโดยระบุว่า ปี 2566 มี 3 เทรนด์ที่น่าจับตามอง

เทรนด์แรก “โซเชียลคอมเมิร์ซได้รับความนิยมมากขึ้น” การแข่งขันของแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้ง Facebook LINE TikTok จะดุเดือดมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากปี 2565 ที่ทุกแพลตฟอร์มพัฒนาฟีเจอร์ให้พร้อมรองรับการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากกว่าเดิม ซึ่งช่วยให้ผู้ค้าสามารถขายสินค้าได้อย่างครบลูป ด้านผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อสินค้าพร้อมชำระเงินได้อย่างไร้รอยต่อภายในแพลตฟอร์มเดียว


ตัวเลขการเติบโตของผู้เชื่อมต่อโซเชียลคอมเมิร์ซกับแพลตฟอร์ม TikTok Shop และ LINE SHOPPING ในระบบของซอร์ทปี 2565 พบว่า มีร้านเชื่อมต่อเพิ่มขึ้น 30% ทั้งมีลูกค้าเดิมที่มีการขยายช่องทางการขายไปยัง TikTok Shop 13% ของช่องทางการขายทั้งหมด

ขณะที่ ลูกค้าเดิมที่มีการขยายช่องทางการขายไปยัง LINE SHOPPING มีอยู่ 15 % ของช่องทางการขายทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการชาวไทย พร้อมปรับตัวไปยังทุกแพลตฟอร์มที่มีกลุ่มผู้บริโภคไปรวมตัวอยู่ที่นั่น


‘วีดิโอสั้น’ อิทธิพลแรง

เทรนด์ที่สอง “พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยหนุนตลาด”  จากข้อมูลของวันเดอร์แมน ธอมสัน พบว่าไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซสูงที่สุดในโลก

คนไทย 95% ระบุว่า ช้อปปิ้งออนไลน์มีส่วนเข้ามาช่วยเรื่องการใช้ชีวิตในช่วงโควิดในช่วงปี 2564 ซึ่งส่งผลทำให้สัดส่วนการช้อปออนไลน์มาแรงต่อเนื่องจนแซงหน้าการช้อปปิ้งออฟไลน์ อีกทั้งยังพบว่า รายการชำระเงินผ่านการชอปปิงออนไลน์ของไทยครองอันดับ 3 ของโลก ด้านการชำระเงินแบบเรียลไทม์ (Real-time Payment)เป็นรองแค่จีนกับอินเดียที่มีประชากรสูงกว่าไทย

เทรนด์ที่สาม “Short Video Commerceเทรนด์ใหม่ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ” เทรนด์การขายที่เปลี่ยนไปในรูปแบบวีดิโอสั้น สอดรับกับพฤติกรรมการรับสื่อผู้บริโภคที่ให้ความสนใจกับการดูสื่อแบบเคลื่อนไหว

ปัจจุบัน กลยุทธ์การเปลี่ยนคอนเทนต์เป็นยอดขาย หรือ Shoppertainment ที่ผสมผสานการชอปปิงเข้ากับความบันเทิง อย่างการโปรโมทสินค้าผ่านคลิปที่กระชับ น่าสนใจ จะช่วยเพิ่มยอดขายและกระตุ้นการซื้อของลูกค้าได้

เช่น การพัฒนาของ TikTok Shop ที่ชูจุดเด่น Short Video Commerce และ Live Commerce ที่ไม่ได้ทำมาเพื่อให้บริการเฉพาะShort videoเพียงอย่างเดียว แต่มีบริการอื่นของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น การเปิดร้านค้าเข้ามาเสริมด้วย ล่าสุดแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็เริ่มพัฒนาฟีเจอร์วีดิโอสั้นมาแข่งขันในตลาด เช่น Reels บนเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม, Youtube Shorts และ LINE VOOM

จุดเปลี่ยน ‘อีมาร์เก็ตเพลส’

ที่น่าจับตามอง ปีนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซยังมีความเสี่ยง 2 ด้าน ที่ผู้ค้าควรวางแผนรับมือและปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังนี้

การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มการเพิ่มค่าธรรมเนียมของแพลตฟอร์ม E-Marketplace: ปี 2565 อีมาร์เก็ตเพลสเจ้าตลาดได้ปรับค่าธรรมเนียมการขายเพิ่มขึ้น 1% ส่งผลให้ผู้ค้ามีต้นทุนค่าธรรมเนียมการขายและค่าคอมมิชชั่นอยู่ที่ 5.35%

ทั้งนี้ ในอนาคตก็ยังมีความเสี่ยงที่ค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะปรับขึ้นได้อีก โดยเฉพาะหลังจากที่ “เจดีเซ็นทรัล” ประกาศถอนตัวจากสงครามอีมาร์เก็ตเพลสในประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้2แพลตฟอร์มเจ้าตลาดที่เคยใช้เงินลงทุนมหาศาลไปกับการสร้างตลาดก็มีโอกาสที่จะปรับขึ้นค่าธรรมเนียมได้คล่องตัวขึ้น

“เมื่อไร้คู่แข่งอย่างเจดีเซ็นทรัลอาจส่งผลให้ร้านค้าที่มีหน้าร้านบนอีมาร์เก็ตเพลสต้องวางแผนหากเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อให้สามารถคุมราคาสินค้าได้ดี และไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขาย”

การฟื้นตัวของตลาดออฟไลน์ กลยุทธ์อออมนิแชนแนลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น : ปัจจัยนี้น่าจับตาอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดกลุ่มนี้เริ่มตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2565 หลังจากการประกาศคลายล็อกของรัฐบาลและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติออกมาจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นผู้ค้าออนไลน์จึงควรปรับตัวด้วยการเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไปอย่างไร้รอยต่อ

ปีนี้อีคอมเมิร์ซก็ยังไม่แผ่ว

ปี 2565 ซอร์ท สามารถสร้างผลงานเติบโตเกินเป้าหมาย มีลูกค้าที่ใช้บริการเพิ่มขึ้น 50% ผ่านอีคอมเมิร์ซทุกแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อในระบบของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 49,000 ล้านบาท ซึ่งโตขึ้นประมาณ 62% จากปี 2564 ที่มีประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่วนปี 2566 ตั้งเป้าหมายการเติบโต 100%

บริษัทมองว่าปีนี้จะเป็นอีกปีที่ดีของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะการชอปปิงออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซอร์ทคาดการณ์ว่า ปีนี้ภาพรวมอีคอมเมิร์ซประเทศไทยจะมีมูลค่าประมาณ 6.6 แสนล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 15-20% จากปี 2565

ดังนั้นผู้ประกอบการที่วางแผนขยายธุรกิจทั้งบนออนไลน์และออฟไลน์ควรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการร้านค้า (Seller Management Platform) เพื่อเสริมการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพในทุกมิติ ทั้งการวางแผนการตลาด การจัดการหลังร้านออเดอร์และสต๊อก

ไปจนถึงการขนส่งสินค้า ที่สามารถรวมการขายจากหน้าร้านทุกแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์มาไว้ที่เดียวอย่างไร้รอยต่อทั้งโซเชียลคอมเมิร์ซและอีคอมเมิร์ซที่ขาดไม่ได้รวบรวมข้อมูลสำหรับพัฒนาธุรกิจและบริการให้ตอบโจทย์กับกลุ่มผู้บริโภคเพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการอย่างมืออาชีพได้ในทุกแพลตฟอร์ม

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2023-02-16 05:57:39
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com