วันนี้
AI
ไม่เพียงมีบทบาทสำคัญต่อการยกระดับภาคธุรกิจ
แต่ยังมีอิทธิพลต่อตลาดแรงงาน
ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอย่างเป็นรูปธรรม...
พีดับบลิวซี
(PwC)
รายงานว่า AI มีบทบาทสำคัญขับเคลื่อนการผลิต
และการดำเนินธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม
ส่งผลให้ผลิตภาพโดยรวมของแรงงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
รวมถึงค่าจ้างที่สูงขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานที่มีทักษะด้าน AI
มีแนวโน้มได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างเห็นได้ชัด
และยังสามารถพัฒนาเส้นทางอาชีพไปสู่ตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้นต่อเนื่อง
รายงาน
“Global
AI Jobs Barometer 2025” โดย พีดับบลิวซี
วิเคราะห์ข้อมูลประกาศรับสมัครงานเกือบหนึ่งพันล้านตำแหน่งจากหกทวีปทั่วโลก
ระบุว่า ตั้งแต่มีการนำ Generative AI (GenAI) มาใช้แพร่หลายปี
2565 อุตสาหกรรมที่ประยุกต์ใช้ AI อย่างเข้มข้น
เช่น บริการทางการเงิน และซอฟต์แวร์ มีการเติบโตของผลิตภาพ (productivity) เพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่า ขยับจาก 7% ช่วงปี 2561-2565 เป็น 27% ในช่วงปี2561-2567
กลับกันกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้
AI
น้อยที่สุด เช่น เหมืองแร่ ธุรกิจโรงแรมและที่พัก พบว่า
อัตราการเติบโตของผลิตภาพลดลงจาก 10% เหลือ 9% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ข้อมูลปี
2567
ยังชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมที่ใช้ AI สูงสุด
มีการเติบโตของรายได้ต่อพนักงานสูงกว่าอุตสาหกรรมที่มีการใช้งานน้อยที่สุดถึงสามเท่า
อาชีพที่ใช้
AI
ขยายตัวต่อเนื่อง
'แครอล สตับบิงส์' ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ระดับโลกของ
พีดับบลิวซี กล่าวว่า เห็นถึงพลัง AI ในการขับเคลื่อนธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นจริง
และยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
ขณะที่
การนำ agentic
AI มาใช้ในระดับองค์กร
ทำให้เกิดการหลอมรวมระหว่างเทคโนโลยีกับวัฒนธรรม ซึ่งจะเปิดโอกาสใหม่ๆ
ในการปรับมุมมองต่อการดำเนินงานและสร้างคุณค่าทางธุรกิจขององค์กร
พบด้วยว่า
จำนวนตำแหน่งงานเกือบทุกสาขาอาชีพที่ใช้ AI ยังคงขยายตัว
แม้ในกลุ่มงานที่สามารถแทนที่ได้ด้วยระบบอัตโนมัติ
แม้อาชีพที่มีการนำ
AI
มาใช้น้อยกว่าจะมีอัตราการเติบโตของตำแหน่งงานโดดเด่นถึง 65% ในช่วงปี 2562-2567 แต่อาชีพกลุ่มที่นำ AI มาใช้มากก็ยังคงมีอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งอยู่ที่ 38%
สำหรับอาชีพที่ใช้
AI
อย่างเข้มข้น สามารถแยกย่อยได้เป็น “งานที่ถูกทำด้วยระบบอัตโนมัติ”
เช่น งานที่ AI สามารถดำเนินการบางส่วนได้ และ
“งานที่ถูกเสริมศักยภาพ” เช่น งานที่มนุษย์นำ AI มาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิผล
ผลการศึกษาพบว่า
จำนวนตำแหน่งงานในทั้งสองกลุ่มดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกอุตสาหกรรมที่ถูกศึกษา
โดยเฉพาะกลุ่มงานที่ได้รับการเสริมศักยภาพจาก AI ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงกว่ากลุ่มอื่น
ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
พีดับบลิวซี
ระบุว่า ค่าจ้างในอุตสาหกรรมที่มีการใช้ AI เพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุตสาหกรรมที่ใช้งานน้อยกว่าถึงสองเท่า
โดยค่าจ้างเพิ่มขึ้นทั้งในงานที่สามารถทำได้โดยระบบอัตโนมัติและงานที่ AI เข้ามาเสริมศักยภาพมนุษย์
ทั้งนี้
ตำแหน่งงานที่ต้องการทักษะด้าน AI ก็มีค่าตอบแทนสูงกว่างานในสายเดียวกันที่ไม่ต้องการทักษะ
AI ในทุกอุตสาหกรรมที่ถูกวิเคราะห์
โดยค่าตอบแทนเฉลี่ยที่สูงกว่านี้อยู่ที่
56% เพิ่มขึ้นจาก 25% ในปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน
งานที่ต้องใช้ทักษะ AI ยังคงเติบโตเร็วกว่าตำแหน่งงานอื่น ๆ
โดยเพิ่มขึ้น 7.5%
จากปีที่ก่อนในขณะที่ประกาศรับสมัครงานทั้งหมดลดลง 11.3%
ด้าน
'โจ แอทคินสัน' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่าย AI
ระดับโลกของ พีดับบลิวซี กล่าวว่าเมื่อเทียบกับความกังวลที่ว่า AI
อาจทำให้จำนวนงานลดลงมาก ผลศึกษาปีนี้ ชี้ว่า
งานกำลังเติบโตในแทบทุกสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ AI แม้แต่ในกลุ่มที่สามารถทำงานโดยอัตโนมัติได้สูง
AI
กำลังเสริมศักยภาพ
และเปิดโอกาสให้ความเชี่ยวชาญกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้มากขึ้น
ช่วยให้พนักงานขยายขอบเขตในการเพิ่มผลลัพธ์และมุ่งเน้นที่ความรับผิดชอบในระดับสูงขึ้น
ด้วยรากฐานที่เหมาะสม ทั้งบริษัทและพนักงานจะสามารถกำหนดบทบาทและอุตสาหกรรมใหม่
และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในสายงานของตน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายด้านเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น
สะเทือน
‘ทักษะ’ แรงงาน
แม้ว่า
ภาพรวมในด้านประสิทธิภาพการผลิต ค่าจ้าง และงานจะเป็นไปในทิศทางบวก
งานวิจัยนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่แรงงานและธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ความต้องการทักษะจากนายจ้างกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น 66% ในสายงานที่ใช้ AI มากที่สุด จากเดิม 25% เมื่อปีที่แล้ว
นอกจากนี้
สิ่งที่ต้องใช้ในการประสบความสำเร็จในงานที่เกี่ยวข้องกับ AI
ก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบอื่นๆ เช่น
ความต้องการวุฒิการศึกษาอย่างเป็นทางการจากนายจ้างลดลงสำหรับทุกตำแหน่งงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่เกี่ยวข้องกับ AI
'พีท บราวน์' หัวหน้ากำลังแรงงานระดับโลก พีดับบลิวซี
กล่าวว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของ AI ไม่เพียงเปลี่ยนอุตสาหกรรมต่างๆ
เท่านั้น แต่ยังพลิกโฉมแรงงานและทักษะที่จำเป็นอย่างสิ้นเชิง
นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่นายจ้างจะแก้ไขได้ง่ายด้วยการทุ่มเงิน
แม้จะสามารถจ่ายค่าตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดผู้มีทักษะด้าน AI
ได้ แต่ทักษะเหล่านั้นก็สามารถล้าสมัยได้รวดเร็ว
หากขาดการลงทุนในระบบที่ช่วยให้แรงงานได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
ช้าไม่ได้
ต้องเริ่มตั้งแต่ ‘วันนี้’
หากมองถึง
ความจำเป็นทางธุรกิจสำหรับการใช้งาน AI หากธุรกิจต้องการเร่งการเติบโตและใช้ประโยชน์จากโอกาสที่
AI มอบให้ พวกเขาควรให้ความสำคัญกับ AI ตั้งวันนี้
โดยมี
5 แนวทางสำคัญสำหรับภาคธุรกิจ ประกอบด้วย 1. ใช้ AI
เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งองค์กร 2. มอง AI เป็นกลยุทธ์การเติบโต
ไม่ใช่แค่กลยุทธ์ด้านประสิทธิภาพ 3. ให้ความสำคัญกับ agentic
AI 4. พัฒนาและส่งเสริมทักษะแรงงานให้พร้อมใช้ประโยชน์จากพลังของ AIและ 5. ปลดล็อกศักยภาพการเปลี่ยนแปลงของ AI ด้วยการสร้างความไว้วางใจ
ภิรตา
ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท พีดับบลิวซี ประเทศไทย
กล่าวเสริมว่าAI ช่วยเพิ่มผลิตภาพและเปลี่ยนแปลงทักษะที่ตลาดแรงงานไทยต้องการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการทางการเงินและเทคโนโลยี ผู้มีทักษะด้านนี้จะมีโอกาสเติบโตและได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี
องค์กรต่าง ๆ ควรสนับสนุนการมอง AI ในฐานะเครื่องมือที่ช่วยเสริมศักยภาพการทำงาน
ไม่ใช่สิ่งที่มาแทนที่มนุษย์ การเริ่มต้นจากการให้เห็นตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI
ในเชิงธุรกิจ พร้อมกับจัดฝึกอบรมให้ความรู้
จะช่วยให้พนักงานเข้าใจการนำ AI ไปใช้ในงานประจำวันได้มากขึ้น
มากกว่านั้นควรมีแนวทางกำกับดูแลการใช้
AI
อย่างรอบคอบ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยของข้อมูล
จริยธรรม และความโปร่งใส
ที่มา
:
กรุงเทพธุรกิจ
วันที่
14 ก.ค. 2568