หุ่นยนต์ เอไอ และสังคมอนาคต



หุ่นยนต์จากฝั่งตะวันตกอย่างของบริษัท Boston Dynamics หรือจากฝั่งจีนอย่าง Unitree Robotics หุ่นยนต์ยุคใหม่มีการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วและทรงตัวอย่างยืดหยุ่นไม่ผิดไปจากมนุษย์นัก

เมื่อผนวกกับศักยภาพที่เปี่ยมล้นของปัญญาประดิษฐ์ ก็พาให้จินตนาการล่องลอยไปถึงสังคมที่มนุษย์กับหุ่นยนต์อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเรื่องราวในงานเขียนของไอแซก อาซิมอฟ

ทุกวันนี้ โรงงานทันสมัยทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยก็เริ่มเต็มไปด้วยหุ่นยนต์แล้ว หุ่นยนต์แขนกลในโรงงานมักใช้ในการประกอบชิ้นส่วนและดูแลกระบวนการผลิตต่างๆ ส่วนในบ้านเรือน เราเริ่มเห็นการใช้หุ่นยนต์ในรูปลักษณ์ที่น่ารัก หรือเป็นหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงเพื่อนำมาเป็นเพื่อน ผู้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุกันแล้ว


(ภาพจาก: ภาพยนตร์ I, Robot)

ในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นหุ่นยนต์ที่ผนวกกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถวิวัฒนาการตัวเองได้ หุ่นยนต์เหล่านี้จะเรียนรู้และปรับใช้อัลกอริทึมอย่างต่อเนื่องตามข้อมูลใหม่ตลอดเวลา ทำให้หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป การพัฒนาตนเองนี้จะนำไปสู่หุ่นยนต์ที่เป็นอิสระมากขึ้น และสามารถจัดการกับสภาพแวดล้อมและงานที่คาดเดาไม่ได้

นอกจากนี้ เรายังจะพบกับหุ่นยนต์ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ขั้นสูง ซึ่งจะช่วยงานในสาขาต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษา และการบริการลูกค้า

แน่นอนว่า เราจะพบกับความหวาดกลัวของการมาถึงของสังคมหุ่นยนต์ ทั้งผลกระทบจากการทดแทนตำแหน่งงานจนทำให้คนจำนวนมากตกงาน การนำไปใช้ด้านการทหารและการรบในอนาคต ไปจนถึงการเกิดขึ้นของไซบอร์ก (Cyborg) ซึ่งทำให้มนุษย์ไซบอร์กที่มีกลไกของหุ่นยนต์ในตัวมนุษย์กลายเป็นอภิมนุษย์ที่มีศักยภาพสูงกว่ามนุษย์ทั่วไป

แนวคิดของบทบาทหุ่นยนต์ในสังคมมนุษย์ได้ถูกกล่าวไว้อย่างรุ่มรวยในนวนิยายวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะผลงานของบรมครูอย่าง ไอแซก อาซิมอฟ ผู้ประพันธ์ผลงานชั้นนำอย่างนวนิยายชุดเรื่อง “Foundation” อันโด่งดัง และเรื่องสั้นชุด “I, robot” หลายเรื่องซึ่งสร้างจักรวาลของหุ่นยนต์ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2493

อาซิมอฟ เคยเสนอ “กฎสามข้อของหุ่นยนต์” ไว้ ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมีแนวปฏิบัติทางจริยธรรมในหุ่นยนต์ โดยเขียนกฎหุ่นยนต์ไว้ในเรื่องสั้นว่า

กฎข้อที่ 1 “หุ่นยนต์ไม่สามารถทำร้ายมนุษย์หรือปล่อยให้มนุษย์ได้รับอันตรายโดยไม่ทำอะไรเลย”

กฎข้อที่ 2 “หุ่นยนต์จะต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ ยกเว้นในกรณีที่คำสั่งดังกล่าวจะขัดแย้งกับกฎข้อที่หนึ่ง

กฎข้อที่ 3 “หุ่นยนต์จะต้องปกป้องการดำรงอยู่ของตัวเอง ตราบใดที่การป้องกันดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับกฎข้อที่หนึ่งหรือสอง”

กฎจริยธรรมดังกล่าวได้รับการสำรวจอย่างกว้างขวาง ในเรื่องราวของหุ่นยนต์ในเรื่องสั้นของอาซิมอฟและของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ต่อมาอีกหลายยุคสมัย สำหรับผู้ชมภาพยนตร์สามารถสัมผัสกับจินตนาการสังคมหุ่นยนต์และกฎจริยธรรมนี้จากภาพยนตร์เรื่อง I, Robot ที่นำแสดงโดย วิล สมิธ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากฎหุ่นยนต์ 3 ข้อยังไม่เพียงพอและทำให้เกิดเหตุการณ์ที่คุกคามการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้

ภายหลัง อาซิมอฟได้เพิ่มกฎข้อที่ศูนย์ขึ้นมาอีกข้อ โดยกฎข้อที่ 0 ระบุว่า “หุ่นยนต์ไม่สามารถทำร้ายมนุษยชาติ หรือยอมให้มนุษยชาติได้รับอันตรายโดยไม่ทำอะไรเลย”

กฎของหุ่นยนต์ 4 ข้อของอาซิมอฟ ช่วยกระตุกความคิดและวางพื้นฐานทางจริยธรรมให้กับการนำหุ่นยนต์มาใช้ในสังคมในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อหุ่นยนต์มีความเป็นอิสระและชาญฉลาดมากขึ้น ประเด็นด้านจริยธรรมจะมีความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม กฎดังกล่าวเป็นกฎในนิยายวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่สมบูรณ์ และยังต้องการการวิจัยและการตั้งวงอภิปรายเพื่อจัดทำกฎระเบียบที่เข้มข้นเกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์อย่างมีจริยธรรม ไม่ว่าจะหุ่นยนต์ที่ใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน และโดยเฉพาะหุ่นยนต์ในด้านการทหารในอนาคต

องค์ประกอบสำคัญในเรื่องสั้นชุด “I, Robot” อีกเรื่องคือการเกิดขึ้นของจิตสำนึกของหุ่นยนต์ เมื่อปัญญาประดิษฐ์มีความซับซ้อนมากขึ้น คำถามเกี่ยวกับจิตสำนึกและความรู้สึกในหุ่นยนต์ก็จะเกิดขึ้น

ซึ่งจะนำไปสู่การถกเถียงเกี่ยวกับสิทธิและสถานะทางกฎหมายของหุ่นยนต์ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมรูปแบบใหม่ โดยหุ่นยนต์จะอยู่ในฐานะเพื่อน ผู้ดูแล เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่คนรักของมนุษย์

ในญี่ปุ่น เราได้เห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ยอมรับหุ่นยนต์ได้มากกว่าฝั่งตะวันตกมาก เพราะญี่ปุ่นมีแนวคิดถึงการมีอยู่ของจิตวิญญาณหรือเรียกว่า “คะมิ” ในสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งก้อนหิน แม่น้ำ ภูเขา สิ่งของ และรวมไปถึงหุ่นยนต์

ในขณะที่ในฝั่งตะวันตก อาจมองหุ่นยนต์ด้วยความหวาดระแวงและความกลัว ซึ่งอาจเป็นผลจากภาพที่ได้จากนวนิยายคลาสสิกอย่างเรื่องแฟรงเกนสไตน์ ของแมรี เชลลีย์ หรือภาพของหุ่นยนต์โมเดลที-800 ในภาพยนตร์เรื่อง Terminator ของเจมส์ คาเมรอน ซึ่งคาเมรอนเคยบอกว่าเห็นภาพหุ่นยนต์ที่น่ากลัวจากในความฝันของตนเอง จนนำมาพัฒนาเป็นภาพยนตร์ชื่อดังในเวลาต่อมา

มุมมองทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งญี่ปุ่นช่วยทำให้เรามองหุ่นยนต์อย่างเท่าทันมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านโอกาสและความเสี่ยง อนาคตของหุ่นยนต์จึงเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ และไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เราต้องเริ่มตั้งคำถามกันล่วงหน้าถึงความก้าวหน้าของหุ่นยนต์กับเรื่องเศรษฐกิจ งานของมนุษย์ สังคมอนาคตและจริยธรรมในสังคมอนาคตนี้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 29 มกราคม 2567


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2024-01-29 09:25:04
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com