นาคตแรงงานในยุคเอไอ:
‘บิล เกตส์’ เผย เอไอมีบทบาทกับอาชีพครูและแพทย์มากขึ้น
ต่อไปจะมีบทบาทกับอาชีพอื่นอีกเรื่อยๆ มนุษย์เตรียมเกษียณเร็วกว่าเดิม
และทำงานน้อยลง
บิล
เกตส์ (Bill
Gates) ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์
ได้กล่าวถึงผลกระทบของเอไอที่จะมีต่ออาชีพครูและแพทย์
โดยเป็นอาชีพที่เราเคยคิดว่าปลอดภัยจากการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี
ในรายการพอดแคสต์
People
by WTF มหาเศรษฐีผู้นี้อธิบายว่า
เอไอจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานทั่วโลก
เขายกตัวอย่างว่า ประเทศต่างๆ ทั้งอินเดีย แอฟริกา และแม้แต่สหรัฐ
กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์อย่างรุนแรง
ข้อมูลจาก
สมาคมวิทยาลัยแพทย์อเมริกัน (Association of American Medical
Colleges) ระบุว่า สหรัฐอาจขาดแคลนแพทย์ถึง 86,000 คนภายในปี 2579
โดยเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ
ไมเคิล
ดิลล์ (Michael
Dill) ผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาด้านแรงงานของสมาคมวิทยาลัยแพทย์อเมริกัน
ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Business Insider ว่า
ต้องการแพทย์อีกหลายแสนคนเพื่อให้บริการได้อย่างทั่วถึง ทั้งสำหรับคนกลุ่มน้อย
คนไม่มีประกัน และคนในชนบท นอกจากนี้
ปัญหายังเพิ่มขึ้นเมื่อจำนวนแพทย์ด้านผู้สูงอายุกลับลดลง
ในขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลแย่ลงในอนาคต
สำหรับวงการแพทย์
เอไอจะเข้ามาช่วยในหลายด้าน ทั้งการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำขึ้น
การจัดการงานเอกสารและบิลลิ่งอัตโนมัติ
รวมถึงการคัดกรองผู้ป่วยสำหรับการรักษาแบบใหม่ๆ
สตาร์ตอัปหลายแห่งกำลังพัฒนาระบบเอไอเพื่อลดภาระงานของแพทย์
ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในวงการแพทย์และเภสัชกรรมได้ถึง 370,000 ล้านดอลลาร์
ในด้านการศึกษา
สถานการณ์ก็คล้ายกัน โรงเรียนรัฐบาลในสหรัฐประมาณ 86%
รายงานว่ามีปัญหาการขาดแคลนครูในปี 2566 - 2567 ขณะที่ในอังกฤษ
มีโรงเรียนมัธยมเริ่มทดลองใช้ ChatGPT สอนนักเรียนแทนครูที่เป็นมนุษย์ในบางวิชา
ตัวอย่างเช่น
โครงการนำร่องที่วิทยาลัย David Game ในลอนดอน
มีนักเรียน 20 คน ใช้เอไอเรียนวิชาหลักอย่างภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา
และคอมพิวเตอร์ เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม แม้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับการโกง
แต่ครูหลายคนมองว่า เอไอจะช่วยประหยัดเวลาและปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน
โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดแคลนครู
ถ้าหากเอไอมาทำงานพวกนี้หมด
มนุษย์จะเหลืออะไรทำ? — เกตส์ไม่ได้พูดถึงแค่ครูและหมอเท่านั้น
เขายังบอกอีกว่า เอไอกำลังมาแทนที่คนงานโรงงาน คนงานก่อสร้าง และแม่บ้านโรงแรม
หรือใครก็ตามที่ทำงานที่ต้องใช้ทักษะทางร่างกายและเวลา
บริษัทเทคโนโลยีอย่างอินวิเดียกำลังลงทุนอย่างหนักกับหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์
หรือ “ฮิวแมนนอยด์” (humanoid) ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานเหล่านี้โดยเฉพาะ
ตั้งแต่การหยิบของในคลังสินค้าไปจนถึงการขัดพื้น
หุ่นยนต์พวกนี้มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
เกตส์มองว่า
เมื่อเอไอสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้มากขึ้น
จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิถีชีวิตการทำงาน
โดยคนอาจสามารถเกษียณได้เร็วขึ้นกว่าปัจจุบันที่ต้องทำงานจนอายุ 60-65 ปี
ทำงานน้อยวันลง อาจจะเป็นสัปดาห์ละ 3-4 วันแทนที่จะเป็น 5-6 วันเหมือนปัจจุบัน
และมีเวลาว่างมากขึ้นและต้องหาสิ่งอื่นทำแทนการทำงาน
“เอไออาจทำให้มนุษย์ทำงานน้อยลง
อาจเกษียณเร็วขึ้น หรือทำงานสัปดาห์ละไม่กี่วัน” เกตส์กล่าว
ในปี
2473 นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John
Maynard Keynes) เคยทำนายไว้ว่า
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยลดชั่วโมงการทำงานของมนุษย์ลงเหลือเพียงสัปดาห์ละ
15 ชั่วโมงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม
เกือบหนึ่งศตวรรษผ่านไป แม้ว่าประสิทธิภาพการผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
คนส่วนใหญ่ก็ยังคงทำงานประมาณ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เหมือนเดิม
ซึ่งห่างไกลจากคำทำนายของเคนส์มาก
บิล
เกตส์ ได้แสดงมุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยกล่าวว่า “ผมไม่จำเป็นต้องทำงาน
แต่ที่ผมเลือกจะทำงาน เพราะอะไรหรือ? เพราะมันสนุก”
คำพูดของเกตส์แสดงให้เห็นความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับงาน
ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการผลิตหรือรายได้เท่านั้น
แต่ยังเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจ ความหมาย และการบรรลุเป้าหมายส่วนบุคคล
สำหรับคนที่มีฐานะมั่นคงอย่างเกตส์ การทำงานไม่ใช่เพื่อความอยู่รอด
แต่เป็นเรื่องของความพึงพอใจส่วนตัว
ประเด็นสำคัญที่เกตส์ยกขึ้นมาคือเรื่องของ
“ปรัชญาการใช้เวลา” เขาเชื่อว่าสังคมจะต้องคิดใหม่ว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างไร
เมื่อการทำงานไม่ใช่กิจกรรมหลักของชีวิตอีกต่อไป
“อะไรคือความหมายของชีวิตมนุษย์หากไม่ได้ถูกกำหนดด้วยการทำงาน?”
เกตส์ยอมรับว่าแม้แต่ตัวเขาเองที่มีอายุเกือบ
70 ปี ก็ยังปรับความคิดได้ยาก เพราะโตมาในยุคที่โลกมีทรัพยากรจำกัด
มีความขาดแคลนสินค้าและบริการ ซึ่งทำให้การทำงานเป็นสิ่งจำเป็น
เรามีค่านิยมว่าทุกคนต้องทำงานเพื่อสร้างผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของสังคม
การจะเปลี่ยนกรอบความคิดจากโลกที่ “ขาดแคลน” ไปสู่โลกที่ “เหลือเฟือ”
จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
ดังนั้น
แม้ว่าเอไออาจทำให้เราทำงานน้อยลงในอนาคต แต่คำถามสำคัญคือ
เราจะใช้เวลาที่เพิ่มขึ้นนั้นอย่างไรให้มีความหมายและมีความสุข
และคนที่ไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพแล้ว
จะยังเลือกทำงานด้วยเหตุผลอื่นหรือไม่ เช่นเดียวกับที่ บิล เกตส์ ทำ?
ที่มา
:
กรุงเทพธุรกิจ
วันที่
23 เม.ย. 2568