จากภาพยนตร์สู่ความจริง..
อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลา เปิดเผยแผนการใช้งานหุ่นยนต์ “Optimus” ในโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท
โดยคาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ในปี 2567
และจะเพิ่มการผลิตเพื่อจำหน่ายให้บริษัทภายนอกในปี 2569
มัสก์ระบุผ่านทวิตเตอร์
(X) ว่า เทสลาจะเริ่มใช้หุ่นยนต์ Optimus จำนวนหนึ่งดำเนินงานภายในบริษัทในปีหน้า
แม้ว่าจะล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะพร้อมใช้งานภายในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม มัสก์ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดหน้าที่ของหุ่นยนต์ในโรงงาน
เหตุผลสำคัญที่มัสก์พยายามนำ
Optimus เข้ามาใช้ในโรงงาน
ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการลดต้นทุนเนื่องจากตั้งแต่ต้นปี
ยอดขายของเทสลาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และผลกำไรลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง จาก 2.7
พันล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 1.5 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสเดือนมิถุนายน
หุ่นยนต์
Optimus ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานที่อันตราย ซ้ำซาก
หรือน่าเบื่อ แทนมนุษย์ในสายการผลิต โดยไม่จำเป็นต้องพัก กิน หรือนอน
มัสก์คิดว่าอาจช่วยลดต้นทุนการผลิตของบริษัทได้ในระยะยาว
มัสก์เคยคาดการณ์ว่า
เทสลาจะสามารถผลิตหุ่นยนต์จำนวนมากในราคาต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์ต่อตัวสำหรับลูกค้าทั่วไป
และมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ Optimus ให้สามารถใช้งานในบ้านเรือนเป็นเพื่อน
แม่บ้าน หรือพี่เลี้ยงเด็กได้ในอนาคต
นอกจากเทสลาแล้ว
ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกกำลังนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้เช่นกัน เมื่อเร็วๆ นี้ BMW ได้ร่วมมือกับบริษัทหุ่นยนต์ Figure เพื่อทำให้โรงงานเป็นระบบอัตโนมัติ
โดยใช้อัลกอริทึมโครงข่ายประสาทเทียมเพื่อช่วยในการจดจำ และจัดการวัตถุ
นอกจากนี้
ยังมีบริษัทเทคโนโลยี AI ยักษ์ใหญ่อย่าง
Nvidia และ OpenAI ที่ได้ร่วมระดมทุนให้กับ
Figure ด้วย แม้แต่ Jeff Bezos ก็แสดงความสนใจในหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย
Machine Learning เช่นกัน
การแข่งขันด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตกำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
โดยมีบริษัทชั้นนำหลายแห่งเข้าร่วม
ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการผลิตภายภาคหน้า
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 สิงหาคม 2567