5 อันดับ เทรนด์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ปี 2023


จากสต็อกหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกทำสถิติใหม่ประมาณ 3.5 ล้านยูนิต มูลค่าการติดตั้งสูงถึง 15.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ สมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติได้วิเคราะห์แนวโน้ม 5 อันดับแรกที่กำหนดรูปแบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในปีนี้

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2023 - รายงานของสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) เผย 5 อันดับเทรนด์หุ่นยนต์ปี 2023 มีรายละเอียดดังนี้

อันดับ 1 - หุ่นยนต์จะประหยัดพลังงานมากขึ้น

ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การใช้ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหุ่นยนต์สามารถช่วยประหยัดพลังงานในการผลิตได้หลายวิธีเมื่อเทียบกับการผลิตแบบดั้งเดิม ประหยัดพลังงานผ่านการลดความร้อน นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังทำงานได้ด้วยความเร็วสูง จึงสามารถเพิ่มกำลังการผลิต ลดเวลาที่ใช้ และประหยัดพลังงานได้พร้อมกัน

ปัจจุบัน หุ่นยนต์ถูกออกแบบให้ใช้พลังงานน้อยลง นำไปสู่ต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลงด้วย ซึ่งหลายบริษัทใช้หุ่นยนต์ที่ติดตั้งเทคโนโลยีประหยัดพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน เช่น ระบบควบคุมหุ่นยนต์ที่เปลี่ยนพลังงานจลน์เป็นไฟฟ้าเพื่อป้อนกลับเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้า (Power grid) ลดพลังงานที่ต้องใช้ในการทำงานของหุ่นยนต์ได้อย่างมาก หรือโหมดประหยัดพลังงานอัจฉริยะที่ควบคุมการจ่ายพลังงานของหุ่นยนต์ตามต้องการตลอดทั้งวันทำงาน ซึ่งโรงงานในปัจจุบันจำเป็นต้องตรวจสอบการใช้พลังงาน ทำให้เซนเซอร์พลังงานมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมาตรฐานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในอนาคต

อันดับ 2 - การย้ายฐานการผลิต

ความยืดหยุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการการย้ายฐานการผลิต ยกตัวอย่างเช่นผู้ผลิตยานยนต์ซึ่งลงทุนอย่างหนักเพื่อให้ซัพพลายอยู่ใกล้ลูกค้ามากยิ่งขึ้น ค่ายรถเหล่านี้ต้องการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อผลิตแบตเตอรี่จำนวนมากสำหรับรองรับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า และสิ่งนี้กำลังมีความสำคัญมากขึ้นนื่องจากบริษัทโลจิสติกส์จำนวนมากปฏิเสธที่จะจัดส่งแบตเตอรี่ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

การย้ายฐานการผลิตไมโครชิปกลับไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นอีกแนวโน้ม เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ต้องการชิปเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบ การจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ใกล้กับลูกค้าจึงมีความสำคัญยิ่งขึ้น ซึ่งหุ่นยนต์ที่ทำงานได้อย่างแม่นยำมีบทบาทสำคัญในการผลิตชิปเป็นอย่างมากเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการความแม่นยำขั้นสูงได้ นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบเพื่อการผลิตซิลิคอนเวเฟอร์โดยเฉพาะ เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาดเซมิคอนดักเตอร์ หุ่นยนต์ทดสอบแผงวงจร

อันดับ 3 - หุ่นยนต์จะต้องใช้งานง่าย

การเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์กลายเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงได้มากขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการซอฟต์แวร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีส่วนช่วยให้ผู้ใช้จัดการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมโดยไม่ต้องมีประสบการณ์ในการเขียนโปรแกรมมาก่อน นอกจากนี้ ผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิมยังร่วมพัฒนาเทคโนโลยีทั้งแบบ Low Code และ No Code เพื่อให้ผู้ใช้ทุกระดับเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ได้ด้วยตัวเองอีกด้วย

ซอฟต์แวร์ และ UX ที่ใช้งานง่าย กำลังเข้ามาแทนที่การเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ และมีสตาร์ทอัพหลายรายกำลังเข้าสู่ตลาดด้วยซอฟต์แวร์ที่พัฒนาเพื่อ SME โดยเฉพาะ เปิดโอกาสใหม่ในการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น เช่น การติดตั้งเซ็นเซอร์และซอฟต์แวร์ให้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมน้ำหนักมากแบบดั้งเดิมสามารถทำงานแบบโคบอทส์ได้ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานปรับแต่งเครื่องจักรหนักให้เหมาะกับงานต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วยการผนวกฮาร์ดแวร์หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและแม่นยำเข้ากับซอฟต์แวร์โคบอทที่ทันสมัย

อินเทอร์เฟซการเขียนโปรแกรมที่ใช้งานง่ายจะเป็นตัวช่วยให้ผู้ใช้สามารถตั้งค่าหุ่นยนต์ได้เอง ผลักดันให้เกิดเซกเมนต์หุ่นยนต์ราคาถูก ตอบรับความต้องการทดลองใช้หุ่นยนต์ของลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่การระบาดของโควิด ซึ่งซัพพลายเออร์หุ่นยนต์ได้ขานรับความต้องการนี้ด้วยหุ่นยนต์ที่ติดตั้งและใช้งานง่าย มีซอฟต์แวร์ที่ตั้งค่าล่วงหน้าสำหรับทำงานร่วมกับกริปเปอร์ เซนเซอร์ และระบบควบคุมราคาต่ำ ซึ่งหุ่นยนต์กลุ่มนี้มักจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ไปจนถึงการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่านแอปสโตร์

อันดับ 4 -  AI และดิจิทัลออโตเมชัน

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การใช้งานหุ่นยนต์มีความเร็วและคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งยังนำไปสู่แอปพลิเคชันใหม่ ๆ โดย Connected Robot ที่เชื่อมต่อกันและกันกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงภาคการผลิต อีกทั้งหุ่นยนต์จะมีการเชื่อมต่อเข้ากับระบบดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์คอมพิวติ้ง การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือข่าย 5G ซึ่งมาตรฐาน 5G นี้เองที่เป็นเทคโนโลยีซึ่งทำให้เกิดการผลิตแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และทำให้การใช้สายเคเบิลในโรงงานเป็นเรื่องล้าสมัย

AI เป็นอีกเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเป็นอย่างมากสำหรับหุ่นยนต์ และสร้างประโยชน์มากมายในด้านการผลิต ซึ่งเป้าหมายหลักของการใช้ AI คือ การจัดการความแปรปรวนและความไม่แน่นอนในสภาพแวดล้อมภายนอกทั้งแบบเรียลไทม์หรือออฟไลน์ ทำให้ AI ที่สนับสนุนเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงมีความสำคัญยิ่งขึ้นในซอฟต์แวร์เพื่อการพัฒนาสายการผลิต เช่น กระบวนการผลิตที่ปรับแต่งให้เหมาะสม (Optimized processes) การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive maintenance) หรือการหยิบจับชิ้นงานโดยอาศัยระบบวิชัน

เทคโนโลยีนี้ช่วยให้ผู้ผลิต ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และผู้ค้าปลีกรับมือกับผลิตภัณฑ์ คำสั่งซื้อ และสต็อกที่เปลี่ยนแปลงบ่อยได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งสภาพแวดล้อมมีความแปรปรวนและคาดเดาไม่ได้มากเท่าไร AI ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่จะให้ผลคุ้มค่าและรวดเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตหรือผู้ค้าส่งที่มีผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ซึ่ง AI ช่วยให้หุ่นยนต์แยกแยะสิ่งของต่าง ๆ และผู้คนได้ดียิ่งขึ้น

อันดับ 5 - “ชีวิตที่สอง” ของหุ่นยนต์

ทั่วไปหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 30 ปี เทคโนโลยีใหม่จึงเป็นโอกาสที่ดีในการมอบ "ชีวิตที่สอง" ให้กับหุ่นยนต์รุ่นเก่า ซึ่งผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมหลายรายมีศูนย์ซ่อมบำรุงที่ใกล้กับลูกค้า เพื่อทำการปรับปรุง หรืออัปเกรดหุ่นยนต์ที่ใช้แล้วด้วยวิธีที่ประหยัดต้นทุนและทรัพยากร นอกจากนี้ การให้บริการซ่อมแซมระยะยาวแก่ลูกยังค้าเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

 

ที่มา : Mreport

วันที่ 18 เมษายน 2566


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : M Report
ข้อมูลวันที่ : 2023-04-19 04:16:17
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com