สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
(ETDA)
เดินหน้าสานต่อบทบาท “Co-Creation Regulator” ผนึกกำลังภาครัฐ
ภาคประชาสังคม และแพลตฟอร์มดิจิทัล ขับเคลื่อนแคมเปญ “DPS Trust Every
Click” พร้อมเปิดวงเสวนา “ร่วมพลังปิดสวิตช์โฆษณาลวง – ผิดกฎหมาย”
มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้สังคมไทย ยกระดับความปลอดภัยจากต้นทาง
ตั้งแต่ระบบการศึกษาไปจนถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล
นางสาวจิตสถา
ศรีประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการ ETDA ระบุว่า
การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ภัย “โฆษณาหลอกลวง”
ทวีความซับซ้อนและกระจายตัวในวงกว้าง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
โดยเฉพาะการยกระดับกลไกกำกับดูแล การสื่อสารกับผู้บริโภค
และการพัฒนานโยบายที่ทันต่อภัยออนไลน์
ETDA
ยังเดินหน้าผลักดันพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
หรือ “กฎหมาย DPS” ที่มีผลบังคับใช้แล้ว พร้อมออกแนวปฏิบัติ
เช่น “คู่มือดูแลโฆษณาออนไลน์”
ที่มุ่งสร้างมาตรฐานร่วมสำหรับแพลตฟอร์มในการคัดกรองเนื้อหาและตรวจสอบผู้ลงโฆษณา
โดยเฉพาะในหมวดเสี่ยงสูง เช่น การเงินและการลงทุน
นางสาวศุภจิตรา
เลาหวัฒนภิญโญ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ศูนย์พัฒนากฎหมาย ETDA
เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมามี การร้องเรียนโฆษณาหลอกลวง กว่า 3,381
เรื่อง มูลค่าความเสียหายทะลุ 19,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการหลอกลงทุน
ขายของปลอม และแอบอ้างบุคคลมีชื่อเสียง
เพื่อลดความเสี่ยง
ETDA
ได้วางแนวทางกำกับดูแลไว้ 3 ส่วนหลัก ได้แก่
· Guideline
– แนวปฏิบัติคัดกรอง เช่น การยืนยันตัวตนผู้ลงโฆษณา
และการเปิดเผยข้อมูลผ่าน Ads Library
· Monitoring
& Detection – การติดตามโฆษณาเสี่ยง โดยเฉพาะการเงิน-ลงทุน
พร้อมระบบแจ้งเหตุจากผู้ใช้งาน
· Regulatory
Enforcement – หากยังมีความเสี่ยง แพลตฟอร์มอาจถูกจัดเป็น
“แพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยงสูง” ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย DPS อย่างเข้มงวด
โดยล่าสุด
ETDA
ได้ออกประกาศกำหนดรายชื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลในหมวดตลาดสินค้า
ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย DPS มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10
กรกฎาคม 2568
พ.ต.ท.ดร.ปุริมพัฒน์
ธนาพันธ์สิริ รองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการ ปอท. ระบุว่า ปี 2567 มี
การแจ้งความคดีไซเบอร์ กว่า 400,000 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 60,000 ล้านบาท โดย
50% เกี่ยวข้องกับการซื้อขายออนไลน์ และกลุ่มเป้าหมายหลักคือ “ผู้หญิงวัยทำงาน”
ซึ่งเป็นผู้ใช้งานดิจิทัลประจำ
ด้านแพลตฟอร์มดิจิทัล
Google
เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาได้ลบโฆษณาที่ผิดนโยบาย กว่า 5,100 ล้านชิ้น
ระงับบัญชีโฆษณาผิดกฎกว่า 40 ล้านบัญชี โดยใช้ระบบตรวจสอบโฆษณาแบบผสมผสาน ทั้ง AI
และทีมงานมนุษย์ พร้อมดำเนิน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การป้องกัน (Prevention),
การตรวจจับ (Detection) และการตอบสนอง (Response)
เมื่อพบความผิดปกติ
Google
ยืนยันว่า “ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ” โดยเฉพาะ ETDA คือหัวใจของการสร้างโฆษณาที่ปลอดภัย และสอดคล้องกับบริบทในแต่ละประเทศ
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนายังเสนอให้มีการบังคับใช้ระบบ Pre-Screening และ Monitoring โฆษณาออนไลน์ รวมถึงพัฒนาเครื่องมืออย่าง “Ads Awareness Checklist” ให้ผู้บริโภคสามารถตรวจจับสัญญาณความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง และผลักดัน “Education Plan” สอดแทรกความรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ในระบบการศึกษาและคอมมูนิตี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัลในระดับรากฐานให้กับคนไทยทุกช่วงวัย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 ก.ค. 2568