การปรับตัวของแรงงานเมื่อเอไอฉลาด | กษิดิศ สื่อวีระชัย



ในปัจจุบัน เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นมาก ทั้งในด้านการสร้างสรรค์ภาษา รูปภาพ เสียงสังเคราะห์และภาพเคลื่อนไหว เมื่อเร็วๆ นี้ ChatGPT ของ Open AI เปิดให้บุคคลทั่วไปใช้งาน ก็สร้างความตื่นตัวเป็นอย่างมากต่อความสามารถของเอไอ จนอดคิดไม่ได้ถึงผลกระทบต่ออนาคตในด้านต่างๆ ของมนุษย์

โดยเฉพาะในฐานะคนทำงานในแวดวงต่างๆ ที่จะต้องเตรียมตัวรับมือ โดยพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการดำรงอยู่ ในยุคที่เอไอจะมีความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ผู้เขียนลองให้เอไอเขียนเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต ในบริบทที่ปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถมากขึ้น เอไอให้คำตอบว่า “หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดที่เราคาดว่าจะได้เห็นในอนาคตของทักษะที่จำเป็น คือทักษะด้านเทคโนโลยีที่จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น

เมื่อเอไอและระบบอัตโนมัติแพร่หลายมากขึ้นในที่ทำงาน ความสามารถในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะรวมถึงทักษะต่างๆ เช่น การเขียนโปรแกรม การวิเคราะห์ข้อมูล และทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) นอกจากนี้ เมื่องานต่างๆ มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น ความสามารถในการเข้าใจและทำงานร่วมกับผลลัพธ์ของระบบเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งสำคัญ”


เมื่อเรานำคำตอบที่เอไอได้ผลิตขึ้นมาข้างต้น มาเปรียบเทียบกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในบทความของ World Economic Forum ปี 2566 พบว่า หนึ่งในทักษะที่จะมีความจำเป็นอย่างมากในอนาคต

จากการวิเคราะห์โฆษณางาน 228 ล้านชิ้น คือ ความสามารถในการทำงานเกี่ยวกับเอไอและ Machine Learning โดยพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการทักษะดังกล่าวได้เติบโตขึ้นถึง 370% ซึ่งแสดงว่า ChatGPT ให้คำตอบที่ใช้ได้เลยทีเดียว

ความสามารถเอไอที่กำลังเติบโตในอัตราทวีคูณได้สร้างความกังวลต่อผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องงานในอนาคตที่จะถูกเอไอมาทดแทน จากการคาดการณ์ในรายงาน “The Future of Jobs Report 2020” โดย World Economic Forum พบว่าภายในปี 2568 จะมีงานจำนวน 85 ล้านตำแหน่งที่ถูกแทนที่โดยเครื่องจักร

รายงานดังกล่าวยังได้คาดการณ์ไว้ว่าจะมีงานจำนวน 97 ล้านตำแหน่งที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ โดยจะมีลักษณะการทำงานที่เป็นการผสมผสานระหว่างคนและเครื่องจักร นัยสำคัญจากรายงานดังกล่าวคือ งานที่สร้างใหม่จะมากกว่างานที่หายไป


อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากตำแหน่งงานใหม่ก็อาจจะไม่ใช่คนเดียวกับผู้ที่ถูกแทนที่โดยเครื่องจักร หากคนไม่สามารถพัฒนาทักษะที่สอดรับกับอนาคตได้ทัน

และแนวโน้มก็ดูจะเป็นเช่นนั้น เนื่องจากการทำงานกับเอไอหรือเทคโนโลยียุคใหม่ต้องการทักษะและความรู้ในขั้นสูงอยู่พอสมควร

ทั้งนี้ แม้ว่าความสามารถของเอไอจะพัฒนามากขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่การทำงานของเอไออย่าง ChatGPT ในปัจจุบันก็ยังคงมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย เช่น คำตอบที่ ChatGPT สร้างขึ้นมาเป็นการดึงข้อมูลที่มีอยู่แล้วจนถึงปี 2564 ซึ่งอาจมีความล้าหลัง ถึงแม้ว่าในเชิงของความถูกต้องของข้อมูล ChatGPT สามารถทำได้ดีมากในระดับพื้นฐาน

แต่ในบริบทการวิจัย ซึ่งต้องใช้ความลึกและความครบถ้วนของข้อมูลสูง รวมถึงการอ่านระหว่างบรรทัด ChatGPT อาจจะยังลงลึกขนาดนั้นไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่จะได้คำตอบเชิงลึกนั้นต้องขึ้นอยู่กับความรู้และคำถามของผู้ใช้ด้วย

นอกจากนี้ เนื่องจากว่า ChatGPT ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้สามารถสร้างประโยคและข้อความได้อย่างสร้างสรรค์ (บนพื้นฐานของการคำนวณทางคณิตศาสตร์และสถิติ) ซึ่งมีความคิดเห็นและข้อมูลที่ผิดพลาดอยู่ ต่างจากการค้นหาข้อมูลแบบดั้งเดิมบน Google ที่ผู้ใช้สามารถคัดกรองแหล่งข้อมูลได้

ข้อบกพร่องสำคัญของ ChatGPT คือความมั่นใจในความถูกต้องของคำตอบ หรือวิธีการเสนอคำตอบซึ่งดูเป็นความจริง หรือ “fact-based” แม้อาจจะเป็นคำตอบที่ไม่ครบถ้วน หรือแม้กระทั่งผิด ส่งผลให้ผู้ใช้มีความเชื่อใจและนำข้อมูลที่ผิดพลาดไปใช้งาน

ผู้ใช้จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลกับที่มาอื่นๆ ด้วย ซึ่งเมื่อผู้เขียนบทความลองถาม ChatGPT ถึงที่มาของคำตอบที่ได้สร้างขึ้นมาก่อนหน้า พบว่า ChatGPT ไม่สามารถระบุที่มาของคำตอบ

เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่สำคัญที่องค์กร สถาบันการศึกษา รวมถึงรัฐบาลต้องทำเพื่อให้แรงงานในอนาคตสามารถปรับตัวในวันที่เอไอมีความฉลาดมากขึ้น คือ การลงทุนในการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตของการทำงาน

โดยเน้นไปที่ทักษะด้านเทคโนโลยีและซอฟต์สกิล เพื่อให้บุคลากรสามารถทำงานร่วมกับนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต หรือที่ Harvard Business Review เรียกว่า hybrid Human/AI work อย่างมีประสิทธิผล โดยสามารถใช้เอไอเป็นหนึ่งในเครื่องมือฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ

ท้ายนี้ รัฐบาลและองค์กรควรทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาแนวทางและนโยบายที่ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกันของประชากร รวมถึงฝึกทักษะใหม่ๆ ให้แก่บุคลากรที่ถูกเอไอทดแทน เพื่อให้ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงข้อมูลและการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์เกิดขึ้นน้อยที่สุด

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 27 มกราคม 2566


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2023-01-27 06:31:59
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com