ในยุคก่อนประวัติศาสตร์
มนุษย์ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และเก็บหาของป่า แต่เมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน
มนุษย์เริ่มหันมาปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
การทำเกษตรกรรมยุคแรกมีลักษณะเป็นการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์เพื่อการยังชีพ
ใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ทำจากหินและไม้
เมื่อมนุษย์เริ่มสร้างอารยธรรมและตั้งถิ่นฐานที่มั่นคง
เกษตรกรรมเริ่มพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณที่เรียกว่าแหล่งอารยธรรมเก่า เช่น
เมโสโปเตเมีย อียิปต์ และจีน เทคโนโลยีชลประทานกลายเป็นเทคนิคที่สำคัญในยุคนี้
ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมน้ำสำหรับการเพาะปลูกได้ดีขึ้น
การแบ่งพื้นที่และการจัดการแรงงานทำให้เกษตรกรรมมีประสิทธิภาพมาก
พืชที่ปลูกมีความหลากหลาย
เมื่อเข้าสู่ยุคกลาง
ที่ดินถูกครอบครองโดยเจ้าของที่ดินหรือขุนนางที่มีอำนาจ
ชาวนาและชาวไร่ทำงานบนที่ดินเพื่อแลกกับการปกป้องจากเจ้าของที่ดิน
การทำเกษตรในยุคนี้เน้นการผลิตเพื่อการยังชีพและการแลกเปลี่ยนในท้องถิ่น
เทคโนโลยีเกษตรเริ่มมีการพัฒนา เช่น คันไถเหล็กและระบบหมุนเวียนการปลูกพืชที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและรักษาคุณภาพดิน
ต่อมาในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่
18-19 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคเกษตร
เนื่องจากการใช้เครื่องจักรในการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว เช่น
เครื่องไถและเครื่องเก็บเกี่ยว ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชด้วย
การเกษตรในยุคนี้เริ่มเน้นการผลิตเพื่อการค้าขายและการส่งออก
สินค้าเกษตรขายในตลาดที่กว้างขึ้นและมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เช่น
ทางรถไฟ เพื่อขนส่งสินค้าเกษตรไปยังที่ต่างๆ
ในยุคปัจจุบัน
การเกษตรกรรมมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนและการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง
(IoT) การวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data) และบล็อกเชน
เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างเช่น
การใช้โดรนบินตรวจสอบสภาพของพืช การใช้เซนเซอร์ตรวจสอบความชื้นและคุณภาพของดิน
การใช้ระบบการจัดการข้อมูลเพื่อวางแผนการปลูกพืช
และการใช้บล็อกเชนเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
Agritech
หรือเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่มุ่งสู่เกษตรแม่นยำ (precision
farming) โดยเทคโนโลยีที่สำคัญ คือ ปัญญาประดิษฐ์
อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หุ่นยนต์ บล็อกเชนและเทคโนโลยีความจริงเสมือน
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
มีบทบาทสำคัญในการวางแผนการปลูกพืชที่สามารถปรับตัวตามสภาพอากาศและความต้องการของตลาด
การจัดการฟาร์มโดยเอไอจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการฟาร์ม ทั้งการทำนายผลผลิต
การตรวจสอบสุขภาพของพืช และการป้องกันศัตรูพืช
รวมถึงการทำนายสภาพอากาศแบบระยะสั้นและระยะยาว
ซึ่งช่วยให้สามารถวางแผนการปลูกพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งเมื่อเอไอที่ก้าวหน้า
เช่น GPT4o เอไอสามารถเป็นทั้งสมองและตาอัจฉริยะในการบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างวิเศษ
อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT)
ช่วยตรวจสอบและจัดการน้ำ
ความชื้นในดินและควบคุมระบบการให้น้ำอัตโนมัติ ซึ่งช่วยประหยัดน้ำและเพิ่มผลผลิต
รวมถึงการตรวจสอบสภาพสินค้าในคลังได้แบบเรียลไทม์
ทำให้การจัดการสต๊อกสินค้าเกษตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
หุ่นยนต์ ใช้ในการเก็บเกี่ยวพืชผล
ช่วยลดแรงงานคนและเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยว
และใช้ฉีดพ่นสารเคมีและปุ๋ยได้อย่างแม่นยำ
ช่วยลดการใช้สารเคมีและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
บล็อกเชน
ช่วยตรวจสอบย้อนกลับเส้นทางของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงผู้บริโภค
ทำให้การตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารเป็นไปอย่างโปร่งใส
สามารถสร้างเป็นสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อ
เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความเชื่อถือในการทำธุรกิจ
ความจริงเสมือน (AR)
ช่วยให้เกษตรกรสามารถเห็นภาพรวมของฟาร์มและวางแผนการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และสามารถใช้ในการฝึกอบรมเกษตรกรในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
และวิธีการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ
ในอนาคต
การเกษตรกรรมยังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบสมาร์ตฟาร์มมาใช้มากขึ้น
เกษตรกรจะได้รับข้อมูลและคำแนะนำการจัดการฟาร์มจากปัญญาประดิษฐ์
ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะช่วยเก็บเกี่ยวและดูแลพืชผล
การเกษตรแบบแนวตั้งและการเกษตรในเมืองจะเป็นทางเลือกใหม่ในการผลิตอาหารในพื้นที่จำกัด
การใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้เกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และเทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยตรวจสอบย้อนกลับและสร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน
ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เกษตร
ทุกวันนี้
เกษตรกรรมกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ความมั่นคงทางอาหารกลับมากลายเป็นวาระที่สำคัญ
หลายประเทศที่ไม่ได้มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์อย่างประเทศไทย
กำลังมุ่งมั่นใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเกษตรของโลก
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 23 พฤษภาคม 2567