เปิด 6 โปรเจกต์ดันแผนเอไอไทย ตอบโจทย์สำคัญตามยุทธศาสตร์


กระทรวง อว. ร่วมกับ กระทรวงดีอี เตรียมนำ 6 โปรเจกต์ ดันแผนเอไอประเทศไทยระยะสอง (พ.ศ.2567-2570) ครอบคลุมทุกมิติ

ยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมและธุรกิจ ทั่วโลกกำลังพัฒนาเอไอเพื่อใช้ภายในประเทศและแข่งขัน ใครเริ่มได้เร็วก่อนกลายเป็นผู้ได้เปรียบ โดยในปี 2573 คาดการณ์ตลาดเอไอจะสร้างมูลค่าถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเติบโตถึง 20 เท่าจากปี 2564

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ริเริ่มแผนเอไอประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2565 พร้อมๆ กับการเกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น OpenThaiGPT แชตบอตตอบคำถามฉบับภาษาไทยตลอดจนจัดทำคู่มือจริยธรรมเอไอเล่มแรกของประเทศ

ล่าสุดปี 2567 อว.ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) หารือ (ร่าง) โครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ.2567-2570) เกิดเป็น “6 โปรเจกต์ ดันแผน AI ประเทศไทยครอบคลุมทุกมิติ”

แผนเอไอระยะ 1 และ 2

ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเอไอ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ไทยไม่ได้หยุดนิ่งกับการพัฒนาเอไอ โดย 2 ปีมานี้ เรามีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในอาเซียน “ลันตา (LANTA)” มีแพลตฟอร์มกลางบริการเอไอบนคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) มีศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมให้ใช้เอไออย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ

ด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้มีหน่วยงานภาครัฐใน 76 จังหวัด นำระบบวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า (TPMAP) เข้าไปขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย

การดำเนินงานส่งผลให้ปัจจุบันมีบุคลากรเข้ารับการอบรม 83,721 คน มีโครงการวิจัยและพัฒนาด้านเอไอในกองทุนวิจัยมูลค่า 1,290 ล้านบาท มีสตาร์ตอัปลงทุนเพิ่มจากการส่งเสริมของรัฐมูลค่า 639 ล้านบาท

นอกจากนี้ การจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านเอไอของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) ประเทศไทยเลื่อนอันดับขึ้นจาก 59 เป็น 31 ทันทีที่มีแผนปฏิบัติการเอไอในปี 2565

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความพร้อมด้านเอไอปีล่าสุด 2023 ไทยหล่นมาอยู่ในลำดับที่ 37 คณะทำงานจึงร่วมกันวิเคราะห์และสรุปเป็น 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีของไทยต่ำลง ได้แก่ 1.Technology Development 2.Human Capital และ 3. Data Representation ทั้ง 3 เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมกันแก้ไข

“รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมองว่า 6 โปรเจกต์เป็นเสมือน Flagship Projects โดยแผนปฏิบัติการเอไอระยะที่ 1 มุ่งเน้นกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มการใช้งานและบริการภาครัฐ และกลุ่มการแพทย์และสุขภาพ”

ส่วนแผนปฏิบัติการเอไอระยะที่ 2 คณะทำงานได้เข้าสัมภาษณ์เชิงลึกหน่วยงานตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมการค้า อุตสาหกรรมการค้าและการเงิน กลุ่มอุตสาหกรรมความมั่นคง กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งจะช่วยให้ระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยมีความร้อยเรียงและเข้มแข็งมากขึ้น

·      6 โปรเจกต์นำร่อง

1. พัฒนาศูนย์กลางเชื่อมโยงและการบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (Travel Link) เชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชน

เช่น ข้อมูลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้าไทยรายวัน ข้อมูลการใช้จ่ายในแต่ละพื้นที่จากโครงการเที่ยวด้วยกัน ข้อมูลความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวจากอินเทอร์เน็ต โดยข้อมูลเหล่านี้จะนำมาจัดทำ Data Catalog และแชตบอตการท่องเที่ยวด้วย GenAI

ภาครัฐสามารถวางแผนและการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในเมืองหลัก ภาคเอกชน สามารถนำข้อมูลเชิงลึกไปใช้พัฒนาการแข่งขันทางธุรกิจ และพัฒนาบริการ-ผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า ด้านนักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการท่องเที่ยวและค้นหาข้อมูลได้สะดวกขึ้น

2. โครงการ Strengthening Fraud Detection Ecosystem with Data Lab ออกแบบและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงินต่อประชาชน

มุ่งเน้นที่การเชื่อมโยงกับระบบของผู้ใช้บริการทางการเงินในภาคธนาคาร ตามมาตรา 4 (Central Fraud Registry: CFR) รวมทั้งพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI Model ตรวจจับและป้องกันการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัย

3. ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เอไออย่างมีธรรมาภิบาล สนับสนุนการพัฒนางานวิจัยสำหรับเซคเตอร์หรือ Regulator 

4. พัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ภาษาไทย (Thai LLM)

5.พัฒนาเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนบุคคลด้วยข้อมูลชีวมิติ (Digital ID) รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับการปลอมแปลงข้อมูลชีวมิติ

6.สร้าง AI-based Machine Vision ส่งเสริมการขยายผลวิจัย และเพิ่มผลผลิตของภาคอุตสาหกรรม

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 22 มีนาคม 2567


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2024-03-22 01:56:08
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com