SAS หนุนธนาคารไทยใช้ AI ประเมินความเสี่ยงเครดิต – ลดหนี้เสีย


SAS แนะ ธุรกิจการเงิน - ธนาคารควรมีระบบประเมินความเสี่ยงเครดิต แก้ปัญหาหนี้เสีย เผย ความสำเร็จการนำเอไอมาใช้ช่วยเจาะลึกความต้องการลูกค้า เข้าใจพฤติกรรม ความต้องการ ทั้งยังสามารถช่วยลดความเสี่ยง ทำให้การคาดการณ์และวิเคราะห์มีความแม่นยำมากขึ้น

นายณัฐพล อภิลักษณ์โตยานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มหนี้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 91.4% ต่อ GDP โดยหนี้บัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล โตเร็วสุดในรอบทศวรรษ

หนี้ดังกล่าว ทำให้การบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตนั้นจำเป็นมากต่อความมั่นคง และการทำกำไรในธุรกิจการเงินและธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังให้ความสำคัญ โดยประกาศใช้มาตรการให้ทุกธนาคารมีระบบป้องกันความเสี่ยง ด้วยการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ

เช่น การประยุกต์ใช้ AI และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อบริหารความเสี่ยงทางเครดิต ทำให้การคาดการณ์ และวิเคราะห์มีความแม่นยำขึ้น เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ให้กู้ยืม และผู้กู้ยืม

SAS (แซส) ในฐานะบริษัทซอฟต์แวร์สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล นำเอไอมาเป็นโซลูชันที่ช่วยให้ธนาคารสามารถวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อเข้าใจพฤติกรรม ความต้องการ และสามารถประเมินความเสี่ยง ตลอดจนจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย

“ปัจจุบันมีธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ของแซส 80,000 กว่ารายทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยมีกลุ่มลูกค้า 100 กว่าราย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นภาคธนาคาร ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกรุงเทพนำเอไอของแซสตรวจสอบเรื่องการฟอกเงิน เพื่อป้องกันฉ้อโกง

โดยยังมี ธนาคารกรุงไทย บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ที่นำเอไอเข้ามาดูแลเรื่องความเสี่ยงการเงิน ใช้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อตัดสินใจปล่อยสินเชื่ออย่างรอบคอบ ทั้งนำมาวิเคราะห์ประวัติการชำระหนี้ และอีกหลายๆ ภาคธุรกิจที่นำเอไอเข้ามาใช้ เพราะการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญในโลกธุรกิจ”

นอกจากนี้ นายณัฐพล ยังย้ำอีกว่า สำหรับธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการจัดการบริหารด้านความเสี่ยง (Risk Management) อย่างจริงจัง เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และยังลดความสูญเสียทางการเงิน

“ขณะนี้โลกของเราอยู่ในยุคที่ใช้ Generative AI ในชีวิตประจำวัน ข้อดีมีมากมาย แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน คือ Deepfake จะมีเพิ่มมากขึ้น และตรวจสอบได้ยากกว่าเดิม

เช่น คนร้ายใช้วิดีโอปลอม เสียงปลอม คลิปปลอม สร้างเพื่อหลอกดูดเงิน นอกจากลูกค้าสถาบันการเงินต้องระวังแก๊งคอลเซ็นเตอร์พวกนี้แล้ว ทางธนาคารก็ต้องมีระบบที่ช่วยลดปัญหาตรงนี้เหมือนกัน

ดังนั้น Risk Management จึงเป็นคีย์หลักๆ ว่า ทำไมภาคธนาคาร และภาคธุรกิจดิจิทัลต้องมีระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพ” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 28 มีนาคม 2567


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2024-03-28 02:13:41
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com