Slimebot หุ่นยนต์สไลม์ที่สามารถทำงานในร่างมนุษย์ได้



หุ่นยนต์ที่มีรูปร่างเป็นของเหลวอาจจะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อย ๆ บนภาพยนต์หลาย ๆ เรื่อง แต่ในวันนี้มหาวิทยาลัยจากฮ่องกงสามารถสร้างหุ่นยนต์สไลม์ให้เกิดขึ้นและใช้งานจริงได้สำเร็จแล้ว !

ของเหลวประเภทสไลม์คงจะเป็นสิ่งที่ทุก ๆ ท่านเคยพบเห็นและรู้จักกันดีอยู่แล้ว ด้วยรูปร่างที่มีความหนืดและยืดหยุ่นสูง ทำให้ไอเดียของสไลม์ถูกทีมนักวิจัยจาก The Chinese University of Hong Kong (CUHK) นำมาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีคุณสมบัติจากสไลม์ขึ้นมา

ศาสตราจารย์ Li Zhang และทีมนักวิจัยได้ทำการผสมอนุภาคแม่เหล็ก Neodymium เข้ากับสาร Borax และโพลิไวนิลแอลกอฮอลล์ซึ่งเป็นสารพอลิเมอร์ชนิดหนึ่ง เพื่อสร้างเป็น Slimebot ที่ควบคุมได้ และสามารถลอดผ่านช่องว่างขนาดเล็ก เพื่อใช้ในการระบุตำแหน่งและจับวัตถุที่ต้องการได้

ความเป็นไปได้ของการใช้งานภายในร่างกายมนุษย์ !

หุ่น Slimebot ได้รับการทดสอบในสถานการณ์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งการใช้มุดลอดช่องว่างขนาดเล็ก หรือการเคลื่อนที่ไปตามเส้นลวดและจับสิ่งของ ซึ่งทางทีมนักวิจัยยังได้มีการทดสอบเพื่อเตรียมนำ Slimebot มาใช้งานในร่างกายมนุษย์อีกด้วย

การเผลอกลืนวัตถุอันตรายต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่ขนาดเล็กหรือชิ้นส่วนพลาสติกลงไปในท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับหลาย ๆ คนเป็นอย่างมาก หุ่นยนต์ Slimebot นี้จึงได้ถูกทดสอบการใช้งานในการค้นหาและหยิบเอาวัตถุอันตรายเหล่านี้ออกมาจากร่างกายมนุษย์ ด้วยรูปร่างและลักษณะที่มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ Slimebot สามารถทำการเคลื่อนที่ไปมาในกระเพาะหรือลำไส้ของมนุษย์ได้โดยไม่เกิดอันตรายนั่นเองครับ