สิ้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท OpenAI ที่ทำการวิจัยด้านเอไอ ได้เงินลงทุนจากไมโครซอฟท์ และ Elon Mask ด้วยเงินทุนกว่าพันล้านดอลลาร์ เปิดโปรแกรมแชตบอทตัวใหม่ชื่อ “ChatGPT” ที่ย่อมาจาก Chat Generative Pre-trained Transformer และสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้คนในความอัจฉริยะ
เมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาทางบริษัท OpenAI ซึ่งทำการวิจัยด้านเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับเงินลงทุนจากบริษัทไมโครซอฟท์ และ Elon Mask ผู้ก่อตั้ง Tesla ด้วยเงินทุนกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐได้เปิดตัวโปรแกรมแชตบอทตัวใหม่ที่ชื่อ “ChatGPT” ที่ย่อมาจาก Chat Generative Pre-trained Transformer และได้สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้คนในความอัจฉริยะของโปรแกรมด้านการประมวลผลภาษา ตั้งแต่การแต่งเรียงความ เขียนจดหมาย การแปลภาษา การตอบคำถามต่างๆ ได้อย่างดี แม้กระทั่งการให้เขียนซอร์สโค้ดในการพัฒนาโปรแกรมให้อัตโนมัติ รวมจนถึงเขียนแผนธุรกิจให้กับองค์กร
ChatGPT จึงมีผู้สมัครเข้ามาใช้งานถึงหนึ่งล้านคนภายในเวลา 5 วัน และคนจำนวนมากที่เข้ามาทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของโปรแกรมแชตบอทนี้ต่างมีความเห็นคล้ายกันว่า โปรแกรมนี้เก่งกว่าแชตบอททุกตัวที่ผ่านมา เพราะสามารถประมวลผลภาษาได้ดีมากและทำงานได้เสมือนคน นอกจากนี้ก็ยังมีความแตกต่างจากโปรแกรมผู้ช่วยดิจิทัล (Digital Assistant) อย่าง Siri หรือ Google Assistant ที่ใช้ในการสนทนากับผู้คนในการตอบคำถามสั้นๆ และเป็นการ
ChatGPT ได้ถูกนำมาทดสอบในการทำการบ้านด้านต่างๆ ของนักเรียน เช่น การเขียนเรียงความด้านประวัติศาสตร์ การเขียนบทสรุปด้านเศรษฐศาสตร์ แล้วถูกพบว่าสามารถทำงานได้ในระดับใกล้เคียงกับเด็กนักเรียนที่เรียนดีในชั้นเรียน จึงเริ่มมีการกล่าวขานกันว่าในอนาคตโปรแกรมแชตบอทแบบนี้อาจเข้ามาแย่งงานอาชีพต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะทางด้านที่ต้องใช้ภาษาในการสรุปต่างๆ รวมถึงแม้แต่การพัฒนาโปรแกรมของคนไอที และที่สำคัญยิ่งอาจเข้ามาแทนที่การค้นหาคำตอบต่างๆ จากแพลตฟอร์มกูเกิลที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน
ผมเองได้เข้าไปทดลองใช้ ChatGPT ที่เว็บไซต์ https://chat.openai.com/chat และได้สั่งงานให้ทำเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งเขียนโปรแกรม แต่งเพลงให้กับตัวเอง ลองเขียนแผนธุรกิจให้กับบริษัท รวมถึงให้เขียนข้อความสรุปสั้นว่า ChatGPT คืออะไร ซึ่งในแต่ละครั้งก็ได้คำตอบที่มีการเรียบเรียงข้อความมาใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่นหนึ่งในคำตอบนั้นคือ
“ChatGPT เป็นโมเดลพัฒนาขึ้นโดย OpenAI ซึ่งเป็นโมเดลลำดับของประสานข้อความ (Sequence-to-Sequence, Seq2Seq) ซึ่งใช้สำหรับการสร้างข้อความที่มีความเข้าใจและมีมนุษยสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคนิคการเรียนรู้สมรรถนะสูง (High-capacity) และเทคนิคการเรียนรู้แบบโลหะ (Transformer) เพื่อประสานข้อความระหว่างผู้ใช้งานและโมเดล
ChatGPT มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างข้อความที่มีความเข้าใจ และสามารถประสานข้อความในแบบสนทนาที่มีมนุษยสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์ อาทิ การตอบคำถาม”
ChatGPT เป็นโปรแกรมเอไอที่ถูกพัฒนาโดยใช้เทคนิคแบบ Deep Learning ซึ่งเป็นโมเดลที่จะถูกปรับให้ดีขึ้นด้วยใช้หลักการของ Supervised Learning และ Reinforcement Learning ที่จะใช้คนในการเทรนโมเดลให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการใช้งานมากขึ้น
ChatGPT ทำงานโดยการรับข้อมูล/ข้อความขนาดใหญ่และใช้ข้อมูลนั้นในการ "เทรน" โมเดลเพื่อสร้างข้อความในรูปแบบที่คล้ายกัน กระบวนการเทรนนี้มีการปรับพารามิเตอร์ภายในโมเดลเพื่อเรียนรู้แบบของแม่แบบและโครงสร้างของข้อมูลนำเข้า เมื่อโมเดลถูกเทรนแล้ว มันสามารถใช้สำหรับสร้างข้อความโดยการประมวลผลข้อมูลนำเข้าและใช้แบบของแม่แบบที่เรียนรู้เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่คล้ายกับข้อมูลนำเข้า
คุณสมบัติสำคัญของ ChatGPT คือ ความสามารถในการสร้างข้อความที่ไม่เพียงแต่มีไวยกรณ์ที่ถูกต้อง แต่ยังเป็นข้อความที่ความเข้าใจชัดเจนและมีการใช้ภาษาที่ดี ทำให้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับงานประมวลผลภาษาธรรมชาติ เช่น การแปลภาษาและการสรุปข้อความ
แต่ ChatGPT ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายเรื่องทั้งการสร้างโมเดลที่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงมากๆ และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก นอกจากนี้ข้อมูลที่ถูกนำมา “เทรน” โมเดลจะเป็นข้อมูลในอดีตถึงช่วงปี 2021 ดังนั้น ChatGPT จึงไม่สามารถทราบข้อมูลหรือเหตุการณ์ต่าง ๆที่เกิดหลังจากช่วงเวลาที่เทรนได้ นอกจากนี้บางครั้งเราก็จะพบว่า ChatGPT ยังสร้างคำตอบที่ผิดๆ อยู่
ChatGPT ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และกำลังเรียนรู้สะสมองค์ความรู้เพิ่มเติมจากผู้ใช้งาน ที่จะช่วยมาปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น จึงอาจจะเป็นการเร็วเกินไปที่จะสรุปผลกระทบของ ChatGPT ต่อการทำงานต่างๆ ของมนุษย์ แต่สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นแน่นอนคือ อีก 2-3 ปีข้างหน้า ระบบแชตบอทอย่าง ChatGPT จะยิ่งเก่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความสามารถในการพัฒนาตัวเองเมื่อโปรแกรมเอไอทั่วไปอย่างโปรแกรมผู้ช่วยดิจิทัล ที่เมื่อมาใหม่ในช่วง 5-6 ปีก่อนไม่สามารถตอบคำถามได้ดีเท่าปัจจุบัน
ดังนั้นเราคงปฎิเสธไม่ได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ChatGPT จะมีส่วนช่วยในการทำงานของเราอย่างมากและเราคงต้องเริ่มมาทดลองใช้กันมากขึ้น ก่อนจะจบบทความสัปดาห์นี้ผมอยากจะบอกผู้อ่านว่า หลายๆ ตอนในบทความนี้ผมก็เริ่มสั่งให้ ChatGPT ช่วยเขียนแทนครับ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 23 ธันวาคม 2565