อุตสาหกรรมเกษตรได้หันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นในหลายด้าน
อาทิ แทรคเตอร์ไร้คนขับ โดรน ระบบเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล
ซึ่งบทความนี้จะพาสำรวจแนวโน้มของเทคโนโลยี Smart Farming ที่จะขับเคลื่อนสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ที่มีความแม่นยำสูง
การทำการเกษตรดูเหมือนจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ผู้คนทำงานในไร่นา เก็บเกี่ยวพืชผล และเลี้ยงสัตว์
แต่ถ้าเรามองให้ละเอียดยิ่งขึ้นก็จะตระหนักว่า
วิธีการทำงานในภาคการเกษตรกำลังเปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่าที่ใครจะคิด
ซึ่งระบบอัตโนมัติและวิทยาการด้านหุ่นยนต์ก็มีบทบาทสำคัญ
ทำไม
‘ออโตเมชัน’ จึงสำคัญต่ออุตสาหกรรมเกษตร?
‘อุตสาหกรรมเกษตร’ มีความท้าทายหลายด้าน
ซึ่งหลายปัจจัยอยู่นอกเหนือการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ความชื้น ศัตรูพืช
และโรคระบาด ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
การยกระดับมาตรฐานในอุตสาหกรรมเกษตรส่งผลต่อผลกำไรของเกษตรกรเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงขึ้นจากโควิด
เกษตรกรจึงจำเป็นต้องมีผลผลิตมากพอเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้
และในขั้นถัดไปคือ ทำอย่างไรให้ที่ดินที่มีอยู่สามารถสร้างผลผลิตได้มากขึ้น
ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานด้วยสายการผลิตที่มีอยู่แต่เดิม
ทำให้การนำเทคโนโลยีด้านออโตเมชันมาใช้แทบจะเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้การเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเป็นจริงขึ้นมาได้
“ออโตเมชัน” จึงมีพื้นที่อีกมากในการเข้ามายกระดับความสำเร็จในการทำเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบเซนเซอร์ร่วมกับโดรนเพื่อปรังปรุงสภาพไร่นา การใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจได้ดีขึ้น ซึ่งแนวโน้มของเทคโนโลยีด้าน Smart Farming ที่จะขับเคลื่อนสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ที่มีความแม่นยำสูง มีดังนี้
เครื่องจักรสำหรับการทำไร่นาอัตโนมัติ
“รถแทรกเตอร์” เป็นหนึ่งในเครื่องจักรที่เป็นภาพจำของอุตสาหกรรมเกษตร
ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องขับรถแทรกเตอร์นานถึงวันละ 8-12 ชั่วโมง
ทำให้มีการพัฒนารถแทรกเตอร์ไร้คนขับเข้ามาช่วยงานเกษตรกร อย่างไรก็ตาม
รถแทรกเตอร์ทำงานอัตโนมัติที่เปรียบเหมือน “หุ่นยนต์ทำไร่”
นี้ยังเป็นเรื่องใหม่และต้องใช้เม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่
ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีกำลังมากพอ
แต่ในอนาคตที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทำไร่มีการแข่งขันมากขึ้นก็จะทำให้ราคาถูกลง
การใช้งานอย่างแพร่หลายก็จะเกิดขึ้นได้
โดรนในอุตสาหกรรมการเกษตร
หนึ่งในอุปสรรคของการทำเกษตรคือพื้นที่การทำงานที่กว้างใหญ่
ทำให้ “โดรน” เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามาตอบโจทย์เรื่องนี้
โดรนสามารถบินได้เป็นระยะทางไกล ครอบคลุมพื้นที่ได้ง่าย
ปัจจุบันมีการใช้โดรนเพิ่มขึ้นอย่างมากในการทำเกษตร เช่น
การใช้โดรนพ่นสารเคมีซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับระบบคลาวด์
เพื่อให้ความแม่นยำและสามารถจัดเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์
รวมถึงควบคุมการทำงานผ่านสมาร์ทโฟนได้
เกษตรกรรมแนวตั้ง
และหุ่นยนต์เรือนกระจก
ความคืบหน้าของเทคโนโลยีเซนเซอร์
เอไอ (AI)
ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมอัตโนมัติ และการปลูกพืชแบบแอโรโพนิกส์ ทำให้การทำเกษตรแนวตั้ง
(Vertical Farming) และการเกษตรในเรือนกระจก (Greenhouse)
ซึ่งใช้พื้นที่น้อยและขยับขยายได้ง่าย สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้
จึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดปีโดยไม่ขึ้นกับฤดูกาล
ซึ่งในปัจจุบันมีหลายบริษัทที่หันมาทำการเกษตรในร่ม (Indoor Farming) มากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยใช้ออโตเมชันในการรดน้ำและใส่ปุ๋ยอย่างแม่นยำการใช้เทคโนโลยี IoT เข้ามาจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อตรวจสอบความชื้น เก็บข้อมูลโรคพืช
การคัดต้นที่แข็งแรง ไปจนถึงการวิเคราะห์วันเก็บเกี่ยว
อุปสรรคของการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการเกษตร
ข้อมูลจาก
ReportLinker
เปิดเผยว่า ในปี 2021
ตลาดหุ่นยนต์การเกษตรทั่วโลกมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4.9
พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะขึ้นไปอยู่ที่ 1.19
หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026 เติบโตเฉลี่ยปีละ 19.3% สะท้อนให้เห็นว่าการนำออโตเมชันมาใช้ในภาคการเกษตรกำลังอยู่ในขาขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการนำมาใช้ยังคงมีอุปสรรคอีกมาก โดยอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด คือราคา
เช่น รถแทรกเตอร์ไร้คนขับซึ่งเป็นสินค้าราคาแพงที่กำลังอยู่ในช่วงเปิดตัวสู่ตลาด
แต่สำหรับเกษตรกรที่มีรายได้น้อยแล้ว เครื่องรีดนมวัวอัตโนมัติ
หรือระบบเซนเซอร์ในฟาร์มซึ่งมีราคาถูกกว่าก็เป็นรายจ่ายก้อนใหญ่แล้ว
อีกอุปสรรคหนึ่งคือความน่าเชื่อถือ
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง เช่น
ในการลงทุนเครื่องพ่นสารเคมีหรือโดรนนั้น
เกษตรกรจะต้องมั่นใจได้ว่าการลงทุนนี้คุ้มค่า
และต้องไม่ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย
ที่มา : M Report
วันที่ 21 กรกฎาคม 2565