นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันถือเป็นเรื่องสำคัญของภาคธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี อาทิ ระบบคลาวด์ (Cloud Computing) บล็อกเชน (Blockchain) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) และ Internet of Things (IoT) สามารถสร้างข้อได้เปรียบและโอกาสการเติบโตทางธุรกิจได้
แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความซับซ้อนในระบบนิเวศของธุรกิจจนเกิดช่องโหว่หรือจุดอ่อนให้อาชญากรไซเบอร์เข้ามาหาประโยชน์ได้ ยิ่งความต้องการใช้เทคโนโลยีมีมากเท่าไร ความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็มากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ไซเบอร์ซิเคียวริตี้กลายเป็นความกังวลอันดับต้นๆ ของผู้นำองค์กรทั่วโลก
แนวโน้มความเสียหายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 World Economic Forum คาดการณ์มูลค่าความเสียหายจากการโจมตีทางไซเบอร์ทั่วโลกจะแตะ 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 15% (YoY) เป็นไปในทิศทางเดียวกับการใช้จ่ายด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่จะเพิ่มขึ้น 12% (YoY) เป็น 194,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแนวโน้มของความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวลนี้เป็นสัญญาณเตือนให้องค์กรต้องเร่งยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของตนเอง
บลูบิค เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีสูงสุด ได้แก่ ผู้ให้บริการวิชาชีพต่างๆ ธุรกิจการเงิน สุขภาพ โรงพยาบาล ค้าปลีก และโรงแรม ตามลำดับ ซึ่ง 3 ภัยคุกคามทางไซเบอร์ระดับตัวท็อป คือ
1) มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมากขึ้นเพราะ Ransomware-as-a-service : โดยจะมีการปล่อยไวรัสมัลแวร์เข้าสู่ระบบเพื่อเจาะเข้าสู่ระบบสำคัญ แล้วทำการเรียกค่าไถ่
ปัจจุบันแฮกเกอร์มีการพัฒนา Ransomware-as-a-service ที่จะมาพลิกโฉมการเรียกค่าไถ่แบบเดิมๆ ด้วยการขายมัลแวร์ที่ฝังตัวอยู่ในระบบของเป้าหมายในตลาดมืด และตกลงซื้อขายภายใต้เงื่อนไขการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันหากผู้ซื้อสามารถเรียกค่าไถ่ได้สำเร็จ ทำให้นับจากนี้การใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่จะทำได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูงอีกต่อไป ขอเพียงแค่เข้าถึงตลาดมืดหรือชุมชนออนไลน์ที่เหล่าแฮกเกอร์ใช้งานอยู่ก็พอ
รายงานของหน่วยงาน Cybersecurity ของประเทศในทวีปอเมริกา เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 ปีนี้ ค่าเฉลี่ยของจำนวนเงินค่าไถ่ทางไซเบอร์อยู่ที่ราว 250,000 เหรียญสหรัฐ และพบว่ามีองค์กรกว่า 58% ต้องตกเป็นเหยื่อมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ขณะที่ 14% ขององค์กรเหล่านี้ต้องจ่ายค่าไถ่มากกว่า 1 ครั้ง โดยมีองค์กรที่ตกเป็นเหยื่อมากกว่าครึ่งที่ต้องใช้เวลามากกว่า 1 เดือน ในการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น
2) การโจมตีในซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain / 3rd Parties Attack) จะเป็นภัยใกล้ตัวกว่าที่เคย : การโจมตีระบบขององค์กรเป้าหมายอาจจะทำได้ยากขึ้นในปัจจุบัน เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะองค์กรต่างๆ มีการยกระดับการป้องกันที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นแฮกเกอร์จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการโจมตี โดยมุ่งเป้าไปเป็นการเจาะระบบของผู้ให้บริการภายนอก (Vendor) ที่มีการให้บริการกับหลายๆ องค์กร และมีช่องทางการเข้าสู่ระบบหลังบ้านขององค์กรลูกค้าต่างๆ อยู่แล้ว แฮกเกอร์จึงเจาะระบบของผู้ให้บริการภายนอก เพื่อใช้เป็นช่องทางที่จะเข้าไปสู่ระบบขององค์กรเป้าหมาย โดย บลูบิค ไททันส์ มองว่าการโจมตีผ่านระบบของซัพพลายเชนจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
จากผลสำรวจของ Ponemon Institute พบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีองค์กรกว่า 54% ถูกโจมตีทางไซเบอร์ผ่านซัพพลายเชนหรือผู้ให้บริการภายนอก โดยมีเพียง 34% ที่มีความมั่นใจว่าตนเองจะได้รับการแจ้งเตือนจากบริษัทผู้ให้บริการ หากเกิดเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์ขึ้นกับระบบของผู้ให้บริการ อย่างไรก็ตาม มีองค์กรมากถึง 60% ที่มีความกังวลว่าการโจมตีทางไซเบอร์ผ่านห่วงโซ่อุปทานจะเพิ่มมากขึ้น
3) การโจรกรรมข้อมูล (Data Breach) บทเรียนสำคัญที่อาจนำมาซึ่งความสูญเสียชื่อเสียง ความเชื่อมั่น และทรัพย์สินเกินคาดการณ์ : การโจรกรรมข้อมูลเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในโลกไซเบอร์ โดยมีเป้าหมายหลักเป็นผลประโยชน์ทางการเงิน และพุ่งเป้าไปที่ข้อมูลสำคัญ ความลับทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา หรือข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า เพื่อนำไปเรียกค่าไถ่หรือขายต่อในตลาดมืด โดยความเสียหายจากเหตุการณ์โจรกรรมข้อมูลมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6,000 บาทต่อ 1 รายการข้อมูล และก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรหลายด้าน เช่น ค่าใช้จ่ายจากการแก้ไขปัญหา ตลอดจนผลกระทบจากธุรกิจหยุดชะงัก และที่เลวร้ายที่สุดคือการสูญเสียความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อองค์กร
รายงานของ IBM ประเมินว่า ในปี 2022 ความเสียหายจากการโจรกรรมทางข้อมูลขององค์กรในภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง 2.87 ล้านเหรียญสหรัฐต่อครั้ง และมีองค์กรกว่า 83% ตกเป็นเหยื่อมากกว่า 1 ครั้ง โดย 45% เป็นการโจรกรรมข้อมูลบนระบบคลาวด์ซึ่งองค์กรมีการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจจะยังขาดมาตรการป้องกันที่เหมาะสม