3 นวัตกรรมการเกษตรแม่นยำ ผลผลิตดีได้แบบไม่ต้องเดา



NIA ส่ง 3 นวัตกรรมช่วยทำการเกษตรแบบแม่นยำด้วย เทคโนโลยี Big Data, IOT ไม่ต้องใช้การคาดเดา ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยยุคดิจิทัลให้เป็น Smart Farmer

หากย้อนไทม์แมชชีนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าภาคการเกษตรของไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายศตวรรษ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ “ความไม่แน่นอน” ทำให้วิถีชีวิตของเกษตรกรถูกแขวนไว้บนความเสี่ยง

ทั้งเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศที่ยากจะควบคุม จนเกิดเป็นปัญหาโรคพืชหรือการปศุสัตว์ แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง เกษตรกรมีอายุเฉลี่ยมากขึ้น บวกกับแนวทางการทำเกษตรในอดีตมักอาศัยความเชื่อและวิถีการทำไร่ไถนาที่สืบทอดต่อกันมา พึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศตามธรรมชาติจึงทำให้คุณภาพและปริมาณของผลผลิตไม่มีความแน่นอน

ดังนั้น เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการนำเครื่องจักรกล เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น อีกทั้งยังต้องเรียนรู้ศาสตร์และวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับภาวะทางธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลง จึงเกิดการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “เกษตรแม่นยำ หรือ Precision Agriculture”

ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความแม่นยำสูง เช่น หุ่นยนต์ ระบบดาวเทียมจีพีเอส เซ็นเซอร์ตรวจสภาพดินและอากาศ บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเตอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่ง (IoT) เข้ามาเสริมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอนให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ 

มีการใช้ทรัพยากรตรงตามความต้องการของพืชและสัตว์ และเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนเปลี่ยงในอนาคต ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้รับมาบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกหรือปศุสัตว์ได้อย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ช่วยเกษตรกรเปิดโลกนวัตกรรมเกษตรแนวใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์ และแนวทางต่อเกษตรกรให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรกรรมให้เป็นแบบ “รู้เขารู้เรา เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดพื้นที่ปลูกและต้นทุนปัจจัยการผลิตและต่อยอดแนวคิด “BCG Economy Model” ที่ต้องการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ประสบความสำเร็จด้วยแนวทางที่ยั่งยืน โดยได้ส่ง 3 นวัตกรรมช่วยทำการเกษตรแบบแม่นยำ ผลผลิตดีได้แบบไม่ต้องเดา ไว้ดังนี้


ListenField แพลตฟอร์มช่วยเกษตรกรวิเคราะห์ข้อมูลการเกษตรได้อย่างแม่นยำ

ListenField ดีพเทคด้านการเกษตรที่ทำการเก็บข้อมูลหลายมิติ พัฒนาโดย ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ต่อยอดงานวิจัยมาเป็นธุรกิจนวัตกรรมด้านการเกษตร มองว่าการแก้ปัญหาด้านการเกษตรในยุคนี้ต้องไม่ใช้การคาดเดา แต่ Big Data หรือ นวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่มาช่วยวิเคราะห์การทำการเกษตรได้ทุกขั้นตอน

ปัจจุบัน ListenField เปิดให้บริการแล้วใน 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย อินเดีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา มีเกษตรกรใช้บริการมากกว่า 10,000 คน โดยการทำงานจะช่วยทำแบบจำลอง วิเคราะห์ พยากรณ์ ด้านสภาพอากาศและพืช ให้ข้อมูลที่ประโยชน์ต่อเกษตรกรทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่มในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับองค์กรธุรกิจภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม

สามารถให้บริการเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายทั้งแอปพลิเคชันบนมือถิอ เว็บแดชบอร์ด และส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ (Application Program Interface หรือ API) ที่ตอบสนองการทำงานกับหลายภาคส่วน

ประเทศญี่ปุ่นทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรให้ความสำคัญกับเรื่องดาต้ามาก ละเอียดถึงขนาดคำนวณการดูดซึมน้ำระหว่างที่น้ำลงไปในดิน ซึ่งประโยชน์ของการเห็นคุณค่าในเรื่องดาต้านี้ ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพ มีราคามากขึ้น โดยลิสเซินฟิลด์ยังมีการลงพื้นที่เพื่อแบ่งปันข้อมูล รับฟังปัญหา แนะนำการใช้เครื่องมือซึ่งเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้แพลตฟอร์มสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงและสร้างระบบนิเวศได้อย่างเป็นระบบ” ดร.รัสรินทร์ กล่าว


Zyan Dairy Farm แอปพลิเคชั่นช่วยบันทึกทุกข้อมูลการเลี้ยงวัวแบบละเอียด

Zyan Dairy Farm แอปพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาโดย บริษัท ซินเทลลิเจนท์ จำกัด ซึ่งมีฟีเจอร์ตอบโจทย์คนเลี้ยงโคนมมากที่สุด ใช้งานง่าย สะดวก มีฟังก์ชันช่วยบันทึกข้อมูลที่สำคัญ เช่น บันทึกพันธุ์ประวัติโค ข้อมูลการผสมพันธุ์ การตั้งท้อง การตลาด ฟังก์ชันระบบการแจ้งเตือนกิจกรรมที่เกษตรกรต้องดำเนินการในแต่ละวัน รวมถึงมีฟังก์ชันระบบบัญชีฟาร์มบันทึกรายรับรายจ่าย พร้อมทั้งแสดงสถิติของฟาร์ม

แลยังสามารถช่วยคำนวณประสิทธิภาพของโคนมได้ทั้งรายตัวและรายฝูงด้วยการดึงข้อมูลทั้งหมดที่บันทึกไว้มาวิเคราะห์ได้ทุกส่วน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาข้อมูลฟาร์มไม่ครบถ้วน และเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนตั้งแต่เกษตรกร สหกรณ์ และสัตวแพทย์ ปัจจุบันมียอดการใช้งานมากกว่า 9,000 ฟาร์มทั่วประเทศ

นอกจากแอปพลิเคชั่น Zyan Dairy Farm แล้ว ZyanWoa Platform ยังมีแอปพลิเคชั่นอีกหลากหลาย เช่น Zyan Coop เว็บแอปพลิเคชั่นสำหรับสหกรณ์และหน่วยงานภาครัฐ Zyan MCC เว็บแอปพลิเคชั่นบันทึกปริมาณน้ำนมดิบ สำหรับจุดรวบรวมน้ำนมดิบ ZyanVet แอปพลิเคชั่นบนมือถือสำหรับสัตว์แพทย์ ที่จะช่วยสร้างบริการออนไลน์สำหรับกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมโดยเฉพาะ เช่น เกษตรกร สหกรณ์ จุดรวบรวมน้ำนมดิบ สัตว์แพทย์ หรือ ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้นำไปพัฒนาระบบการดำเนินงานให้สะดวกสบาย และก้าวทันเทคโนโลยี


e-Catt แพลตฟอร์มซื้อ-ขายโคเนื้อไทยออนไลน์

e-Catt แพลตฟอร์มการตรวจสอบย้อนกลับ ซื้อขาย และแปลงโคเนื้อเป็นทุนแบบครบวงจร พัฒนาโดย บริษัท บีเวอร์เทค จำกัด ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) โดยตัวแพลตฟอร์มถูกออกแบบและพัฒนาให้มีระบบการเลี้ยงโคที่ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพื่อยกระดับการเลี้ยงโคที่ดี ได้มาตรฐาน

อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับพันธุ์วัว จำนวนของวัวในแต่ละพื้นที่ ราคา รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ช่วยทำให้ธนาคาร บริษัทประกันภัย ตลอดจนผู้ซื้อโคเนื้อ สามารถเข้าถึงข้อมูลการเลี้ยงโคของเกษตรกรรายย่อยได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทั่วถึง

โดยสามารถประเมินเมินความเสี่ยงของเกษตรกรโคเนื้อแต่ละรายได้อย่างแม่นยำ ทำให้โคเนื้อกลายเป็นสินทรัพย์ที่ตรวจสอบได้ และสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารได้ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลและแหล่งเงินทุนจาก ธกส. ได้ง่ายขึ้น สามารถซื้อขายและสร้างรายได้ผ่านแพลตฟอร์ม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ให้ยั่งยืนต่อไป

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 1 กันยายน 2565


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2022-09-01 01:21:40
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com