สยามคูโบต้าใช้ ‘คลาวด์’ พัฒนาบุคลากรด้าน Data



สยามคูโบต้าเผยความสำเร็จจากการเปลี่ยนผ่านมาสู่ดิจิทัลรูปแบบใหม่ โดยการใช้ “นวัตกรรมคลาวด์” เร่งพัฒนาบุคลากรด้าน Data พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรสู่การเป็น Smart Farmer

เมธี ศรีสุพรรณดิฐ ผู้จัดการฝ่ายดิจิทัลและเทคโนโลยี บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทางกรุงเทพธุรกิจถึง การประสบความสำเร็จจากการนำนวัตกรรมคลาวด์และเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาเสริมกำลังทัพของบุคลากรภายในองค์ด้าน “Data Visualization” เพื่อเปลี่ยนผ่านมาสู่ดิจิทัลรูปแบบใหม่ และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตรในรูปแบบ 4.0 ตอบโจทย์เกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer

ฤดูกาลเปลี่ยนผ่านสู่ Data Citizen

สถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ต้องเร่งปรับตัวและหันมาใช้เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร ตลอดจนการเพิ่มความสะดวกให้กับการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล

เมธี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สยามคูโบต้าทำงานภายใต้กระบวนการทำงานแบบแมนวลที่ขาดความเชื่อมต่อกัน ซึ่งกลายเป็นภาระงานที่กินเวลา ประสบกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เข้ามามีบทบาทในช่วงของการทำงานที่บ้าน (work from home) จึงทำให้บริษัทมองหาโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อปรับการทำงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่ง ซึ่งก็ได้มาเจอกับเทคโนโลยีคลาวด์

และได้สร้าง ทีม COVID-19 Center เพื่อเป็นสื่อกลางในการประสานงาน แบ่งออกเป็น 6 ทีม ได้แก่ ทีมสื่อสาร ทีมความปลอดภัย ทีมจัดการ Cash Flow ปรับรายรับรายจ่ายให้เหมาะสม ทีม R&D ดูแลเรื่อง การวิจัยและการพัฒนาหาแนวคิดหรือโอกาส ทีม CSR เพื่อให้ ความช่วยเหลือสังคม และทีมทำ New Normal Operation เพื่อบริหารธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้


เมธี ศรีสุพรรณดิฐ

ทีมดังกล่าวได้มีการนำเอาคลาวด์และ IoT มาปรับใช้ในองค์กรทุกภาคส่วน ตั้งแต่ การวิเคราะห์ข้อมูล การจัดทำงบประมาณ การวางแผน การคาดการณ์ และการรายงาน เริ่มใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้

1. การใช้คลาวด์ของ Microsoft เป็นหลักทั้งองค์กร เพื่อหาจุดเชื่อมต่อที่เป็นจุดเดียวกัน แสดงผลทิศทางเดียวกัน ใช้ในการประชุม เพื่อการจัดการบริหารระบบที่เรียลไทม์ สามารถสร้างทีมให้เหมาะสมกับขนาดหรือรายละเอียดของงาน

2. การใช้ Tableau Cloud มาเสริมในส่วนการบริหารจัดการข้อมูล (Data Visualization) ในส่วนนี้จะใช้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกรโดยตรง เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน ออกฟีเจอร์ใหม่ ๆ ช่วยทำให้เกษตรกรมีความสะดวกในการทำงานมากยิ่งขึ้น การวิเคราะห์ความเสี่ยง-ประเมินพื้นที่การเกษตร เช่น โรค/น้ำ/อากาศ ก่อนลงทุนกับเครื่องมือหรือพื้นที่ต่าง ๆ ช่วยส่งเสริมเกษตรกรตรวจสอบพืชผลของตนโดยใช้ IoT ผ่านการแสดงข้อมูลด้วยภาพ (Data visualization)

ซึ่งขณะนี้ Kubota Farm เริ่มทำการทดลองไปพร้อมกับเกษตรกร กล่าวคือ เอา Data เข้ามาลองใช้ ส่งเสริมกำไรให้สอดคล้องกับการลงทุนกับนวัตกรรมของเกษตรกร นอกจากนี้ ก็ยังทำให้เกิดการทำงานนอกสถานที่ได้ สามารถทำงานในพื้นที่เกษตร แม้ว่าจะไม่ได้เข้าบริษัท ทุกคนก็สามารถเห็นชุดข้อมูลเดียวกันแบบเรียลไทม์ผ่านคลาวด์

3. การใช้ Salesforce เป็นเครื่องมือหลักในการดูแลลูกค้าและบริการต่าง ๆ ทั้งก่อนการขายและหลังการขาย เช่น ฟีเจอร์แชทสอบถามข้อมูลอะไหล่ในเว็บไซต์ KUBOTA Store เพื่อยกระดับการบริการลูกค้าได้รับประสบการณ์การซื้อสินค้าและรับบริการที่ดี สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคปัจจุบัน

จากการใช้คลาวด์ทั้ง 3 รูปแบบนี้ ทำให้สยามคูโบต้าลดเวลาการจัดทำรายงานงบประมาณจากเกือบสองสัปดาห์ เหลือเพียงน้อยกว่าหนึ่งวัน ซึ่งช่วยประหยัดเวลาที่ใช้ในการคาดการณ์ลงได้ถึง 90% ขณะที่การประมวลผลของระบบวางแผนเร็วขึ้น 80% การผนวกข้อมูลการวางแผนของทุกส่วนงานและข้อมูลธุรกิจจากกว่า 70 แหล่งเข้าด้วยกัน ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถปรับแนวทางการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างราคาน้ำมันหรืออัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ก็ยังมีการเวิร์คช็อปพนักงานภายในองค์กรไปแล้ว 200 คน เพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจและสามารถใช้งานด้าน Data Visualization เพื่อคาดการณ์ยอดขายและแบ่งส่วนของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ

“คาดหวังว่าในอนาคต 1-2 ปีนี้ Data Citizen จะเป็นอนาคตใหม่ของการทำงาน เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ต่อไป ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงและใช้งานข้อมูลกันได้เหมือนกับการใช้งาน Microsoft Word โดยไม่จำเป็นต้องมีคนมาสอน” เมธี กล่าว

เทคโนโลยี Big Data สนับสนุนเกษตรกร

สยามคูโบต้านำเทคโนโลยี IoT มาสนับสนุนเกษตรกรในเรื่อง การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรโดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการคูโบต้าฟาร์ม และเกษตรปลอดการเผา ออกเครื่องจักรใหม่ ๆ เช่น เครื่องตัดหญ้าเนเปียร์ สำหรับธุรกิจฟาร์มโคนมและพลังงานชีวมวล แทรกเตอร์ B2401 พร้อมเครื่องตัดหญ้าใต้ท้องรถ (Mid mower) โดรนอัจฉริยะลบสิ่งกีดขวางในแปลงเกษตร เป็นต้น

ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) เพื่อสื่อสารและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ระบบ QRoC หรือ QRadar on Cloud ที่คอยตอบคำถามเพื่อสนับสนุนการทำงานของช่างบริการผ่านช่องทางไลน์ ระบบ Scan QR code เพิ่มความสะดวกสบายในการจ่ายค่าบริการที่หน้างานของลูกค้า

นอกจากนี้ ยังได้จับมือกับพาร์ทเนอร์อย่าง SCG ร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท เกษตรอินโน จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการถือครองหุ้นคือ เอสซีจี 51% สยามคูโบต้า 25% และคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น 24%

สำหรับสินค้าและบริการของเกษตรอินโน ประกอบด้วย เกษตรอินโน โซลูชั่น (KasetInno Solutions) ประกอบด้วย Farm Design, Farm Development และ Farm Care บริการออกแบบ พัฒนา และดูแลฟาร์มเกษตรครบวงจร เพื่อช่วยวางแผนในการทำเกษตร ให้แก่กลุ่มคนที่สนใจการทำเกษตรแต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเริ่มต้น

รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีพื้นที่ว่างเปล่า หรือกลุ่มองค์กรธุรกิจการเกษตรที่ต้องการองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้บริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกลุ่มเกษตรกรมืออาชีพที่มีพื้นที่ทำเกษตรเดิมอยู่แล้ว แต่ต้องการระบบการจัดการรวมถึงเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่เข้ามาช่วย

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 8 สิงหาคม 2565


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2022-08-08 02:35:17
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com