Meta
ประกาศความร่วมมือกระทรวงดิจิทัล ตำรวจไซเบอร์ และเอ็ตด้า
เสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกดิจิทัลและป้องกันภัยลวงออนไลน์
Meta
ประกาศความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES)
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
(สพธอ.) ร่วมเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ภายในงาน
“ผนึกความร่วมมือเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกดิจิทัลและป้องกันภัยลวงออนไลน์”
โดยในงานนี้ได้ประกาศความร่วมมือในสามประเด็นสำคัญ ได้แก่
1.
ความร่วมมือกันระหว่าง Meta กับ สพธอ.
ในการให้ความรู้เรื่องการฉ้อโกงและการหลอกลวงทางออนไลน์ผ่านโรดโชว์ใน 22
จังหวัดของประเทศไทย
2.
ความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความรู้กับธุรกิจขนาดเล็กถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ
3.
ผลสำเร็จของแคมเปญออนไลน์ “จุดจบสแกมเมอร์” ร่วมกับ 7
ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของเมืองไทยและ 8 หน่วยงานพันธมิตร
เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงกลลวงต่างๆ จากมิจฉาชีพออนไลน์
โดยความร่วมมือนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อหารือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อนำไปสู่แนวทางการหาแนวทางการป้องกันการหลอกลวงทาง
ออนไลน์ อีกทั้งยังมีการพูดคุยถึงประเด็นที่ภาครัฐให้ความสำคัญในปี 2567
และตอกย้ำความร่วมมือในทุกภาคส่วนในด้านมาตรการการป้องกันการหลอกลวงออนไลน์และสร้างความน่าเชื่อถือในยุคดิจิทัล
ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเสริมสร้างความรู้ด้านดิจิทัล
การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัล
แคลร์
อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ จาก Meta
ได้เน้นย้ำถึงการดำเนินงานและวิสัยทัศน์ขององค์กรว่า"ความปลอดภัยและการรักษาข้อมูลของผู้ใช้งานคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด
ปัจจุบันการหลอกลวงทางออนไลน์ถือว่าปัญหาที่มีความท้าทายบนโลกอินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบัน
เนื่องจากมีลักษณะที่ซับซ้อนและมีการดำเนินการข้ามแพลตฟอร์ม รวมถึงกลลวงต่างๆ
จากมิจฉาชีพที่มีการปรับรูปแบบไปเรื่อยๆ
โดยส่วนมากอาจมีการดำเนินการผ่านเครือข่ายหลายประเทศ
รวมถึงการดำเนินการในรูปแบบออฟไลน์ที่ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ไม่สามารถเข้าถึงได้
ดังนั้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจึงมีความสำคัญ เพื่อปกป้องชุมชนให้ปลอดภัย
เรามีความรู้สึกยินดีกับความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและได้ร่วมงานกับพันธมิตรและครีเอเตอร์ไทยในครั้งนี้
และรอคอยการทำงานต่อเนื่องกับพันธมิตรภาครัฐในประเทศไทยในปี 2567 ที่กำลังจะมาถึง
เพื่อสร้างการตระหนักรู้และการให้ความรู้กับประชาชนในการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างปลอดภัย”
Meta
ให้ความสำคัญในการสร้างการตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ผ่านแคมเปญ
#StayingSafeOnline ภายใต้โครงการ We Think Digital
Thailand และมีการนำเสนอสื่อให้ความรู้ต่างๆ
เพื่อเสริมสร้างทักษะให้คนไทยรู้เท่าทันกลลวงออนไลน์ร่วมกับ
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โคแฟค ( Collaborative Fact
Checking) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งแคมเปญนี้ได้รับการเข้าถึงมากกว่า 29 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น
42% ของประชากรทั้งหมด
และในปีนี้เอง
Meta
ก็ยังได้เปิดตัวแคมเปญ #จุดจบสแกมเมอร์
ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ ได้แก่
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
(สพธอ.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
สภาองค์กรของผู้บริโภค คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์
และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) และสมาคมธนาคารไทย รวมถึง 7 ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ไทย
ได้แก่ สะบัดแปรง Kyutae Oppa Softpomz บ้านกูเอง ขายหัวเราะ
Nud.ped และ การ์ตูนสร้างสรรค์
เพื่อนำเสนอกลภัยลวงออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ
เพื่อให้คนไทยได้รู้เท่าทันและเรียนรู้เคล็ดลับในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ
เหล่านี้ โดยแคมเปญดังกล่าวสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มของ Meta กว่า 105 ล้านคน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “การจัดการภัยออนไลน์เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบทบาทขององค์กรภาครัฐที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการสนับสนุนการสร้างพื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นในประเทศไทย และขณะที่เราใกล้ถึงบทสรุปของปี 2566 ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับโลกดิจิทัลที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเมื่อเราเข้าสู่ปี 2567 และต่อ ๆ ไปในอนาคต”
พ.ต.อ.เจษฎา
บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการกลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กล่าวว่า“ทางตำรวจไซเบอร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ประเภทต่าง
ๆ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนร่วมกัน
เพื่อมิให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
อยากขอให้ประชาชนระมัดระวังการหลอกลวงทางออนไลน์ที่มักแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
การหลอกลวงขายสินค้าบริการและการลงทุนทางการเงิน และการหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์โดยผิดกฎหมาย
หากประชาชนพบเห็นการประกาศหรือโฆษณาของมิจฉาชีพผ่านทางช่องทางใด ๆ
ขอให้ช่วยรายงานผ่านผู้ให้บริการนั้นทันที แจ้งเตือนคนรู้จักมิให้หลงเชื่อ
และแจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ
เพราะความตระหนักรู้และความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนเท่านั้น
จะช่วยสร้างความปลอดภัยในโลกออนไลน์ร่วมกันได้ เราต้องทำงานเป็นทีมเท่านั้น
เราคือทีมประเทศไทยที่จะเอาชนะภัยอาชญากรรมออนไลน์ไปด้วยกัน”
ดร.
ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เผยว่า
“สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)
มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความมั่นคงปลอดภัย
กำกับดูแลธุรกิจให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงการวางแนวทางในการรับมือและป้องกันปัญหาสแกม
โดยเราเชื่อว่าการทำงานร่วมกับพันธมิตรมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
และต้องอาศัยความแข็งแกร่งของพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญอย่างหลากหลาย เช่น
พันธมิตรที่มีความพร้อมทางด้านเครื่องมือ พันธมิตรที่มีองค์ความรู้ และพันธมิตรที่มีความสามารถในการเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก
เป็นต้น
นอกจากนี้ สพธอ.
ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดตั้งศูนย์ AOC สายด่วน
1441 เพื่อให้บริการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์แบบเร่งด่วนแก่ประชาชน
การให้บริการศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 Online Complaint
Center หรือ 1212 OCC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายทางออนไลน์
และการให้ความรู้แก่องค์กรต่าง ๆ
เพื่อเสริมสร้างการรู้เท่าทันและป้องกันสแกมในอนาคต”
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 15 ธันวาคม 2566