ญี่ปุ่น คิดค้น ‘แขนกลหุ่นยนต์’ สวมใส่-ถอดเปลี่ยน หวังใช้งานในอนาคต


 

นักวิทยาศาสตร์ ม.โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ประดิษฐ์ “แขนกลหุ่นยนต์” สวมใส่-ถอดเปลี่ยนได้มากถึง 6 แขน หวังผนวกมนุษย์กับจักรกลหลายแขนทำงานร่วมกันในอนาคต

เทคโนโลยีไซบอร์ก (Cyborg) เป็นระบบที่ทำงานร่วมกันของสิ่งมีชีวิตกับกลไกอิเล็กทรอนิกส์ โดยทั่วไปมักพบเห็นได้ในหนัง Sci-fi ซึ่งผสานการทำงานระหว่างเครื่องจักรและมนุษย์ ให้ประโยชน์หลายด้าน

เช่น การแพทย์ สามารถทำเป็นอุปกรณ์สวมใส่สำหรับเป็นแขนขา เปรียบเสมือนโครงกระดูกให้กับคนปกติ ทำให้มีพลังมากขึ้น ลดความเหนื่อยล้าจากการใช้แรง มักใช้กับงานที่ต้องออกแรงเยอะๆ ด้านการกู้ภัย ตลอดจนใช้ในวงการศิลปะ

สำหรับวงการศิลปะ มาซาฮิโกะ อินามิ และทีมนักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เล็งเห็นการนำไซบอร์กมาใช้ประโยชน์เช่นเดียวกัน โดยได้สร้าง “แขนหุ่นยนต์” ให้เป็นอุปกรณ์สวมใส่ที่มีหลายแขน และสามารถถอดเปลี่ยนได้ เพื่อศึกษาการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้ใช้แขนหุ่นยนต์นี้หลายๆ คน


อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นแขนหุ่นยนต์ที่สวมใส่ได้ ชื่อว่า จิซาอิ (Jizai Arms) หรือ 自在肢 ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า แขนที่เป็นอิสระ มีลักษณะคล้ายขาแมงมุม วิธีใช้คือ สวมเป็นเป้สะพายหลัง มีช่องเสียบในตัว 6 ช่อง สามารถติดตั้งแขนประเภทต่างๆ ตามความต้องการของผู้สวมใส่ได้ โดยแขนถอดเปลี่ยนได้ทันที การติดแขนทั้ง 4 เข้ากับเป้จะเพิ่มน้ำหนักให้ผู้สวมใส่เพิ่มขึ้น 14 กิโลกรัม

ทีมวิจัยเปิดเผยว่า แรงบันดาลใจของการสร้างจิซาอิ คือ การแสดงหุ่นกระบอกแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นและเรื่องสั้นกึ่งสยองขวัญของ ยาสึนาริ คาวาบาตะ นักเขียนนวนิยายเจ้าของรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายที่ยืมแขนของหญิงสาวและใช้เวลาทั้งคืนกับแขนดังกล่าว

นอกจากนี้ เป้าหมายของพัฒนาคือ ทดสอบความสามารถด้านการตอบสนองของเอไอว่าสามารถเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์ได้หรือไม่ ด้วยการทดสอบการเคลื่อนไหวและการโต้ตอบของหุ่นยนต์ ผ่านการเต้นระบำ โดยมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของแขนหุ่นที่ติดบนหลังของผู้ทดสอบ รวมไปถึงการให้แขนกลจากผู้ใช้งาน 2 คน มาโต้ตอบกัน


การเคลื่อนไหวของจิซาอิแม่นยำแต่นุ่มนวล ซึ่งสามารถต่อยอดไปยังการทำงานในหลากหลายด้าน เช่น การเป็นมือเสริมในการหยิบจับสิ่งของภายในโกดังสินค้า, การช่วยเหลือทางการแพทย์ในห้องผ่าตัด ตลอดจนการช่วยเหลือผู้พิการด้วยเช่นกัน

แขนหุ่นยนต์ดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนทดลอง มาซาฮิโกะย้ำว่านี่ไม่ใช่คู่แข่งของมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้คนเราทำในสิ่งที่เราต้องการได้ แต่ก็มีผู้สวมใส่บางคนยึดติดกับแขนหุ่นยนต์หลังจากใช้งานไประยะหนึ่ง เมื่อต้องถอดออกหลังจากใช้งานไปสักพัก พวกเขาจะรู้สึกเศร้าใจเล็กน้อย และนี่เทคโนโลยีที่แตกต่างจากเครื่องมืออื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีที่ประสานกับมนุษย์อาจจะช่วยให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น แต่การที่จะประยุกต์เทคโนโลยีเหล่านี้ให้มาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ยังเป็นเรื่องที่ยาก

เพราะยังมีปัจจัยต่างๆ ที่ไม่ครอบคลุมในการใช้ ทั้งด้านความปลอดภัยและด้านจรรยาบรรณต่อสิ่งมีชีวิต แต่นับว่าแขนกลหุ่นยนต์จิซาอิหากถูกพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ คงเป็นนวัตกรรมที่น่าจับตามองไม่น้อย

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 12 กรกฎาคม 2566


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2023-07-12 02:48:57
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com