สหรัฐฯ ลงทุนหุ่นยนต์เพิ่ม แต่ผลิตภาพหด เพราะอะไร?



อเมริกาเหนือมีการลงทุนหุ่นยนต์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ผลิตภาพลับลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม รอยเตอร์รายงานว่า อเมริกาเหนือมีการลงทุนหุ่นยนต์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในครึ่งแรกของปี 2022 แต่ยังประสบปัญหาในการเดินหน้าสายการผลิตและคลังสินค้าเนื่องจากค่าแรงและค่าชดเชยที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากสมาคมเพื่อความก้าวหน้าของออโตเมชั่น (Association for Advancing Automation: A3) สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 ปี 2022 อเมริกาเหนือมีการสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 12,305 เครื่อง เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งเมื่อรวมกับยอดสั่งซื้อในไตรมาสที่ 1 แล้ว ทำให้ครึ่งแรกของปี 2022 เป็นปีที่อเมริกาเหนือมีการสั่งซื้อหุ่นยนต์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยหลายสื่อรายงานเพิ่มเติมว่า ยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของอเมริกาเหนือทำลายสถิติต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 3 แล้ว

นาย Jeff Burnstein ประธานสมาคม A3 กล่าวว่า “เมื่อผู้ผลิตต้องการผลิตสินค้ามากขึ้น ความต้องการออโตเมชันก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

สิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้บริษัทมีการลงทุนหุ่นยนต์มากขึ้น คือ การขาดแคลนแรงงานที่รุนแรง โดยปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีตำแหน่งงานรองรับเกือบ 2 ตำแหน่งต่อผู้ว่างงานหนึ่งคน ทำให้นายจ้างหลายรายเสนอขึ้นค่าแรงให้กับลูกจ้าง ส่งผลให้ค่าแรงของสหรัฐอเมริกเพิ่มขึ้น 5.1% ในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขึ้นค่าแรงที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่กระทรวงแรงงานเริ่มเก็บสถิติเมื่อปี 2001

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ผลิตภาพ (Productivity) ของสหรัฐอเมริกากลับลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มมีการเก็บสถิติเมื่อปี 1948

หนึ่งในความเป็นไปได้ คือ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด เนื่องจากการระบาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคแรงงาน ไปจนถึงการลาออกครั้งใหญ่ในช่วงวิกฤต และเป็นไปได้ว่าในช่วงที่แรงงานเริ่มกลับเข้าทำงานใหม่นี่เองที่ทำให้ผลิตภาพลดลง เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว แรงงานมักทำงานได้น้อยกว่าปกติในช่วงเปลี่ยนอาชีพหรือสายงาน

นอกจากนี้ อีกความเป็นไปได้หนึ่ง คือการจ้างงานส่วนมากในช่วงไม่นานมานี้อยู่ในอุตสาหกรรมบริการที่มีการผลิตต่ำกว่า เช่น ตำแหน่งงานด้านการท่องเที่ยว พนักงานต้อนรับ และอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้การลงทุนหุ่นยนต์ไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

นาย Jeff Burnstein ประธานสมาคม A3 กล่าวเสริมว่า การติดตั้งเครื่องจักรใหม่ ๆ จำเป็นต้องใช้เวลาจึงจะแสดงศักยภาพได้สูงสุด เนื่องจากผู้ใช้ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเข้าสู่ยุครถอีวี โดยสมาคมฯ เปิดเผยว่า เกือบ 60% ของยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 มาจากผู้ผลิตยานยนต์

นาย Mike Cicco CEO บริษัท FANUC America มีความเห็นใกล้เคียงกัน ประเมินว่า ครึ่งหนึ่งของยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาจากผู้ผลิตยานยนต์ที่กำลังเร่งเดินหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และแสดงความเห็นว่า แนวโน้มการลงทุนนี้จะยังอยู่ต่อเนื่องไปอีกหลายปี จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่ายอดสั่งซื้อหุ่นยนต์ยังไม่สะท้อนผลลัพธ์ด้านผลิตภาพออกมาให้เห็น

ซึ่งการลงทุนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมพุ่งสูงนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของบริษัทที่ต้องการตอบรับความต้องการที่มากขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อก็ตาม

ที่มา : M Report

วันที่ 5 กันยายน 2565


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : M Report
ข้อมูลวันที่ : 2022-09-05 08:49:40
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com