JWD ส่งคลังสินค้าโรโบติกส์ นวัตกรรมสร้างความแตกต่าง



แม่นยำ” และ “รวดเร็ว” คีย์สำคัญในความพึงพอใจของลูกค้าที่เปิดประตูสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและความยั่งยืนของ “เจดับเบิ้ลยูดี” หลังการตัดสินใจประกาศตัวเป็นผู้บุกเบิกด้านคลังสินค้าโรโบติกส์ เพิ่มศักยภาพสู่ Smart Warehouse

เจดับเบิ้ลยูดีได้นำเทคโนโลยีโรโบติกส์เข้ามาใช้กับคลังสินค้าห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาครเป็นครั้งแรกในปี 2562 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถจัดเก็บสินค้า แก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า

ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียน กล่าวว่า

การก้าวเป็นผู้ริเริ่มการทำ Smart Warehouse สิ่งที่จะเกิดขึ้นสิ่งแรกคือการยกระดับมาตรฐานการให้บริการของอุตสาหกรรมคลังสินค้า และโลจิสติกส์ ให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคลังสินค้า และโลจิสติกส์ของประเทศไทย สร้างความน่าเชื่อถือในการร่วมทุน หรือลงทุนกับพาร์ตเนอร์ผู้ประกอบการท้องถิ่นในระดับประเทศ รวมทั้งระดับภูมิภาคอาเซียนต่างๆ ในอนาคตอันใกล้

ปัจจุบันมีคลังสินค้าห้องเย็นโรโบติกส์ที่เปิดให้บริการแล้ว 3 อาคาร คิดเป็นพื้นที่จัดเก็บสินค้ารวม 21,000 ตารางเมตร หรือ 46,000 พาเล็ต และกำลังดำเนินการก่อสร้างอีก 3 อาคาร ในจังหวัดสระบุรี สมุทรสาครและย่านบางนา

คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ซึ่งทั้ง 3 แห่งจะเพิ่มพื้นที่จัดเก็บสินค้ารวมอีก 17,000 ตารางเมตร หรือ 40,000 พาเล็ต รวมเป็น 38,000 ตารางเมตร หรือ 86,000 พาเล็ต


นอกจากนี้ยังมีคลังสินค้าจัดเก็บเอกสารโรโบติกส์ที่เปิดให้บริการแล้วอีก 1 อาคาร ในย่านสุวินทวงศ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่จัดเก็บเอกสารเกือบ 5,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 745,000 กล่อง จึงนับเป็นผู้ประกอบการรายแรกในประเทศไทยที่ให้บริการคลังสินค้าจัดเก็บเอกสารโรโบติกส์

JWD มีแผนพัฒนาคลังสินค้าโรโบติกส์อย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทำงานอื่นนอกจากการจัดเก็บสินค้า

โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ลูกค้าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการจัดเก็บสินค้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการฆ่าเชื้อและการลดการสัมผัสสินค้า

ทางคลังสินค้าจึงได้เริ่มทดลองเชื่อมต่อเทคโนโลยี AI เข้ากับกล้องเพื่อจับภาพสินค้าอาหารทะเลบนสายพานลำเลียงเพื่อทำการคัดแยกสายพันธุ์ปลาแทนการใช้แรงงานคัดแยก

บริษัทได้พัฒนาระบบกล้องให้รองรับการเชื่อมต่อกับกิจกรรมดังกล่าวและดำเนินการขอจดอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงนำระบบแชตบอท (Chat Bot) เข้ามาปรับใช้เป็นพี่เลี้ยงฝึกอบรมพนักงาน ติดตามพนักงานใหม่ที่เข้าทำงาน และต่อยอดสู่การพัฒนาข้อมูลด้านอื่น ๆ


ระบบโรโบติกส์ เป็นการนำเครื่องจักร และเทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนคน โดยการควบคุมด้วยระบบสั่งการของคอมพิวเตอร์ โรโบติกส์ที่บริษัทใช้มีการออกแบบและพัฒนาร่วมกับทางซัพพลายเออร์ หรือผ่านการพัฒนาต่อยอดจากโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ ทำให้ระบบตอบสนองการทำงานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

สำหรับเงินลงทุนภาพรวมทั้งหมดประมาณ 700 ล้านบาท ในปี 2564 และมีการลงทุนเพิ่มในปี 2565 อีก 1,600 ล้านบาท รวมเป็น 2,300 ล้านบาท เป็นส่วนทั้งที่ดิน การก่อสร้าง ระบบทำความเย็น ระบบ ASRS และอุปกรณ์ที่ใช้ภายในคลังสินค้าทั้งหมด

ในอนาคตมีแนวโน้มที่นำระบบการใช้งานระบบโรโบติกส์มาใช้กับคลังสินค้าทุกแห่งของบริษัท จากความตั้งใจที่จะนำมาปรับปรุงและพัฒนารูปแบบในการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของทางลูกค้าให้มีความพึงพอใจสูงสุด


จากภาพรวมที่มีการใช้งานมา ลูกค้ามีความประทับใจในระบบนี้อย่างมาก และเรามีแผนนำระบบ โรโบติกส์ เชื่อมต่อเข้ากับระบบ Fulfillment ต่อในอนาคต

ประโยชน์ที่ได้จากการนำระบบโรโบติกส์มาใช้ ที่โดดเด่นสุดคือ

1.ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บสินค้าได้สูงสุดถึง 16 ชั้น จากเดิมเพียง 5 ชั้น และทำงานได้ในสภาวะที่พนักงานปกติทำงานได้ยากลำบาก เช่น ในที่อุณหภูมิติดลบ (-20°C) หรืออุณหภูมิสูงกว่าปกติ โดยไม่พึ่งพาแสงสว่าง

2.ความรวดเร็ว แม่นยำ การจัดเก็บสินค้าโดยเฉพาะระบบ ASRS เป็นลักษณะการจัดเก็บสินค้าแบบอัตโนมัติ โดยใช้ระบบขับเคลื่อนในการนำสินค้าไปส่งที่เครน และยกขึ้นไปจัดเก็บในชั้นวางสูงถึง 16 ชั้น

ในส่วนของความรวมเร็วนั้นสามารถฝากและเบิกสินค้า 40 พาเลทต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นการทำงานที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งในส่วนของความแม่นยำในการทำงานต่างๆ ยังไม่พบข้อผิดพลาดเนื่องจากเป็นการทำงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด


(เปรียบเทียบกับระบบแบบเดิม: ASRS ใช้ระยะเวลาในการจัดเก็บและหยิบสินค้าไม่เกิน 3 นาทีต่อ 1 rack จากเดิมใช้เวลา 10 นาที สำหรับระบบ mobile palter และใช้เวลา 30 นาทีสำหรับระบบชั้นวางแบบดั้งเดิม (rack)

3.การลดค่าไฟ 30-50% การนำระบบโรโบติกส์มาใช้งานในส่วนของการจัดเก็บสินค้านั้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการเปิดใช้งานระบบแสงสว่าง เนื่องจากไม่มีพนักงานเข้าไปปฏิบัติงาน รวมถึงการเปิดปิดประตูห้องที่มีขนาดเท่ากับสินค้า ทำให้ความเย็นภายในห้องไหลออกสู่ด้านนอกน้อยกว่าประตูลักษณะเดิมที่ต้องมี Forklift วิ่งผ่าน ทำให้คอมเพลสเซอร์ไม่ต้องทำงานหนัก จึงช่วยลดต้นทุนในส่วนของค่าไฟฟ้าลง

4.การใช้แรงงานน้อยลงสามารถลดปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลนลงได้ โดยในการทำงานที่จัดเก็บสินค้ามากกว่าคลังสินค้าทั่วไป เราสามารถลดจำนวนพนักงานที่ใช้ในการขับโฟร์คลิฟท์สำหรับฝากและเบิกสินค้าลงได้มากถึง 50%.

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 25 กรกฎาคม 2565


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลวันที่ : 2022-07-25 02:03:24
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com