โลกธุรกิจวันนี้กำลังเปลี่ยนผ่านจาก “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน” ไปสู่ “ดิจิทัลบิสิเนส” ยุคใหม่แห่งดิจิทัลที่ย่ิงมีความท้าทาย และองค์กรต้องก้าวตามให้ทันก่อนจะกลายเป็นผู้ตามที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง...
ซานดร้า อึ้ง รองประธานกลุ่มและผู้จัดการทั่วไป ไอดีซี เอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า ช่วงสามปีที่ผ่านมาโลกธุรกิจได้ก้าวสู่ยุคใหม่ อันเป็นผลพวงจากการเร่งเครื่องดิจิทัลทั่วโลกและภายในภูมิภาค
โดยคุณลักษณะที่กำหนดยุคใหม่และเป็นสิ่งที่จะมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กรในการขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัลนี้คือ “contextualization” และ “real time at scale”
ไอดีซีระบุว่า มากกว่า 60% ของการใช้จ่ายทั้งหมดมาจากเทคโนโลยีที่สนับสนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ที่น่าสนใจ ภายในปี 2569 ราว 40% ของรายได้ทั้งหมดขององค์กรชั้นนำ 2,000 แห่งในเอเชีย (A2000) จะมาจากผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ดิจิทัล
‘ออโตเมชัน’ เชื่อมโลกอัจฉริยะ
ขณะที่ ภายในปี 2570 องค์กร 80% จะสามารถระบุมูลค่าของขีดความสามารถ/สินทรัพย์ดิจิทัลของตนได้อย่างถูกต้อง และจะทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ, ภายในปี 2567 องค์กร 30% จะมีกลยุทธ์บริหารภาวะวิกฤติและความต่อเนื่องทางธุรกิจที่ครอบคลุมอินเทลลิเจนซ์และช่วยรับมือวิกฤติเศรษฐกิจและดิสรัปชันในอนาคตได้อย่างคล่องตัวว่องไว
นอกจากนี้ ในปี 2566 การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขององค์กรในเอเชียแปซิฟิคจะเติบโต 3.5 เท่าของเศรษฐกิจ และเป็นการวางรากฐานสู่การดำเนินการเป็นเลิศ ความแตกต่างทางการแข่งขัน และการเติบโตในระยะยาว
สำหรับ 5 เทรนด์สำคัญที่ต้องจับตามองในปี 2566 ประกอบด้วย เทรนด์ที่ 1: Automation อัจฉริยะที่เชื่อมโยงระบบทั่วทั้งองค์กรจะเป็นกุญแจสำคัญของธุรกิจ องค์กรจำเป็นต้องย้ายตัวเองจากการใช้ RPA และ ออโตเมชัน แบบ rule-based ซึ่งมักถูกใช้แบบเจาะจงเฉพาะกับแต่ละกระบวนการ ไปสู่การผสานความอัจฉริยะทั่วทั้งกระบวนการและภาระงาน
‘ข้อมูล’ กุญแจสร้างความสำเร็จ
เทรนด์ที่ 2: การเชื่อถือข้อมูลที่มีอยู่และความจำเป็นสูงสุดในการสามารถอินทิเกรทข้อมูลได้จากทุกแหล่ง โดย พอล เบอร์ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอบีเอ็ม เอเชียแปซิฟิค อธิบายว่า ถ้าองค์กรไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ องค์กรก็จะไปได้ไม่ไกล
วันนี้ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคือองค์กรที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เร็วที่สุด เรียนรู้และวิวัฒนาการได้เร็วที่สุด และเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการแปลและการเรียนรู้จากข้อมูล ไม่ว่าในอุตสาหกรรมใดก็ตามต้องมีสถาปัตยกรรมข้อมูลที่ดี ใช้ “data fabric” เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในทุกแหล่งได้
เทรนด์ที่ 3: ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่ฝังตัวและเชื่อมต่อทั่วทั้งอีโคซิสเต็ม ช่วงสามปีที่ผ่านมา จำนวนออนไลน์และโมบายล์สแกมเพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ธนาคารต่างๆ ได้ลงทุนจำนวนมากทั้งในแง่กระบวนการ เทคโนโลยี และคน เพื่อบริหารจัดการซิเคียวริตี้และช่วยให้เป็นไปตามกฎของหน่วยงานกำกับดูแล
ยิ่งเมื่อภาครัฐและรัฐบาลเพิ่มการนำออนไลน์และโมบายมาใช้มากขึ้น ยิ่งเป็นจุดที่อาจเพิ่มโอกาสในการถูกโจมตี โดยสามปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพถูกจับตาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ปี 2563 ผลิตภัณฑ์เฮลธ์แคร์ปลอมซึ่งรวมถึงวัคซีนโควิด สร้างความสูญเสียถึง 2,600 ล้านดอลลาร์
เทรนด์ที่ 4: ความยั่งยืนคือเรื่องที่ทุกองค์กรต้องทำ กุญแจสำคัญในก้าวต่อไปของความยั่งยืน คือการที่องค์กรสามารถวัดคาร์บอนฟุตปรินท์จากการดำเนินงานของตนได้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าต้องควบคุมหรือมีมาตรการอย่างไร
เทรนด์ที่ 5: พนักงานดิจิทัลและบุคลากรแห่งอนาคต วันนี้บุคลากรมีน้อยลง และเมื่อพิจารณาจากจำนวนที่มีอยู่ คนที่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันยิ่งน้อยลงไปอีก เรื่องนี้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา
3 กลยุทธ์ รับมือทุกวิกฤติ
ผู้บริหารไอบีเอ็ม เปิดมุมมองว่า สามเรื่องสำคัญที่องค์กรต้องให้ความสำคัญในปี 2566 ประกอบด้วย 1. การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของธุรกิจ (business velocity) ซีอีโอควรมองไปถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึงทำให้การดำเนินกระบวนการต่างๆ ทางธุรกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และมีความคลาดเคลื่อนน้อยลง
ขณะที่ 2.การลดต้นทุน ด้วยวันนี้มีแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้ออย่างรุนแรง การที่มีแรงงานน้อยลงแปลว่าค่าแรงเพิ่มขึ้น และนั่นหมายถึงภาวะเงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาจากภาวะเงินเฟ้อ คือการใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วย
สุดท้าย 3. การยืดหยุ่นฟื้นตัวไว (Resilience) องค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐต้องคิดในภาพใหญ่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทางเทคโนโลยี และไม่จำกัดตัวเองอยู่ในกล่อง ที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนตามโลกได้ทัน เพราะเราต่างรู้อยู่แล้วว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป
นอกจากนี้ แนวทางที่องค์กรควรให้ความสำคัญในปี 2566 ยังมี ความจำเป็นในการให้ความรู้เรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้แก่พนักงานทั่วทั้งองค์กร, การประเมินจุดอ่อนหรือช่องโหว่ พร้อมมีระบบซิเคียวริตี้ที่เชื่อมต่อกัน รวมถึงกลยุทธ์ซิเคียวริตี้ “Zero trust” ช่วยให้องค์กรสามารถเพิ่ม “cyber resiliency” และบริหารความเสี่ยงอันเกิดจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เชื่อมต่อกันได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 8 ธันวาคม 2565