(ร่าง) แผนปฏิบัติการ AI ผ่านมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 26 ก.ค.2565
และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำร่างแผนปฏิบัติการฯ
ดังกล่าวไปดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่ อว.เสนอ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประเทศไทยในหลายภาคส่วน
ไม่ว่าจะเป็น ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม
ด้านสุขภาพและการแพทย์ และด้านกฎหมาย
รวมทั้งยังสามารถยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
และแนวโน้มการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในประเทศก็มีการขยายตัวอย่างมาก
จึงมีนโยบายให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(เนคเทค) จัดทำ
(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย
พ.ศ.2565-2570 ตั้งแต่เดือน
ธ.ค.2562
โดยมีวิสัยทัศน์
“ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วน และเชื่อมโยงแบบบูรณาการ
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในปี พ.ศ. 2570”
ในการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการฯ เนคเทคทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเอไอ
รวมทั้งเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐ
ภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนและดำเนินงานที่สอดคล้องกัน
เมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานตามร่างแผนปฏิบัติการฯ
ในปี 2570 จะทำให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมต่อประเทศ
เช่น
มีมูลค่าที่เกิดจากการจ้างงานและสร้างอาชีพในระบบเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากมีจำนวนทรัพยากรบุคคลที่สามารถปรับทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ทางด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์
เพื่อรองรับอาชีพและการทำงานในรูปแบบใหม่ในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ที่สำคัญสุดคือ เราต้องการให้แผนปฏิบัติการนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม
รวมทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจากการนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้
ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ครอบคลุม 10 กลุ่มเป้าหมาย
ได้แก่ (ระยะที่ 1) เกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ
การใช้งานและบริการภาครัฐ
(ระยะที่ 2) โลจิสติกส์และการขนส่ง ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การศึกษา ความมั่นคงและปลอดภัย อุตสาหกรรมการผลิต พลังงานและสิ่งแวดล้อม การเงินและการค้า
ยุทธศาสตร์
5 ด้าน
ได้แก่
1. เตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม
กฎหมายและกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ AI
2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุน AI เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ซูเปอร์คอมพิวติ้ง เอไอเซอร์วิสแพลตฟอร์ม
3. เพิ่มศักยภาพบุคลากรและพัฒนาการศึกษาด้าน AI
4. พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุน AI
5. ส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ AI ในภาครัฐและภาคเอกชน
การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (เริ่มดำเนินการภายใน
2 ปีหลังจากการอนุมัติ)
มุ่งเน้นโครงการนำร่องด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศ
เช่น การสร้างแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมาภิบาลข้อมูลเพื่อการประยุกต์ใช้ในด้านปัญญาประดิษฐ์ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและคำนวณสำหรับปัญญาประดิษฐ์
การเตรียมพร้อมกำลังคนและส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่
การพัฒนาเทคโนโลยีและประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์นำร่องใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
ด้านการแพทย์และสุขภาวะ การเกษตรและอาหาร และการใช้งานและบริการภาครัฐ
ส่วนในระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) มุ่งเน้นการผลักดัน ขยายผลการประยุกต์ใช้งานกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย โดยเป็นการขยายผลไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เหลืออีก 7 กลุ่ม
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า คณะทำงานกำหนด KPI ที่จะได้รับเมื่อสิ้นสุดแผนปฏิบัติการฯ ในปี 2570 โดยทาง
อว.และดีอีเอสจะช่วยกันขับเคลื่อนให้สำเร็จ อาทิ
- จะเกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สนับสนุนงานด้าน
AI ในภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี
- มีบุคลากรของประเทศด้าน AI เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า
30,000 คน
- มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริง 100 ชิ้น ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าด้านธุรกิจและสังคมไม่ต่ำกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท
- เกิดการใช้งานใน 600 องค์กร
ทั้งภาครัฐและเอกชน
- เกิดมูลค่าตลาด 60,000 ล้านบาท
- ต้องทำให้ AI เป็นที่เข้าใจของผู้คนทั่วไปอย่างน้อย
6 แสนคน
- มีกฎหมายทางด้าน AI เกิดขึ้น 1 ฉบับ
- ดัชนีชี้วัดความพร้อมด้าน AI ของรัฐบาลจะต้องไม่ต่ำกว่าลำดับที่
50 ของโลก จากปัจจุบันอยู่ลำดับที่ 60 ขณะที่สิงคโปร์อันดับ
2 -3 ของโลก
ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานนั้น ปลายปี 2565
เนคเทคซึ่งรับผิดชอบซูเปอร์คอมพิวเตอร์เซ็นเตอร์ของ
สวทช.จะเปิดซูเปอร์คอมพิวเตอร์ให้กับประเทศ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาด 10
เท่าของที่มีอยู่
ก่อนหน้านี้ เนคเทคได้พัฒนา AI for Thai เป็นแพลตฟอร์มให้บริการ AI สัญชาติไทย รองรับความต้องการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการบริการต่างๆ ในประเทศไทย
เช่น Chatbot
ให้บริการตอบคำถามแก่ลูกค้าแทนพนักงาน, กลุ่มโลจิสติกส์
ใช้ระบบรู้จำใบหน้า (Face Recognition) เพื่อตรวจจับใบหน้าของพนักงานขับรถว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่
และ Traffy Fondue ก็พัฒนาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้
ดร.ชัย มองว่า แผนปฏิบัติการ AI อาจไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เพราะเทคโนโลยีสามารถขับเคลื่อนตัวเอง
อีกทั้งฝั่งความต้องการใช้งานก็ขยายเพิ่มขึ้น แต่จะเกิดขึ้นคล้ายกับดอกเห็ด
แล้วขาดการประสานกัน
เช่น
ระบบการแพทย์ทางไกลซึ่งอนาคตอันใกล้นี้คนไทยจะเคยชินกับบริการการแพทย์ทางไกล
การวิจัยโรคจะใช้เอไอเข้ามาช่วย เช่น การดูฟิล์ม การดูภาพจอตา ภาพหลอดเลือด
ภาพสแกนสมอง ล้วนแต่จะใช้เอไอเข้ามาช่วยตรวจสอบ
บริการเหล่านี้จะเกิดขึ้นมากเป็นดอกเห็ด
แต่หากไม่มีการวางแผนให้ดี ข้อมูลจะขาดการต่อเชื่อมกัน ดังนั้น แผนฯ AI จะเข้ามาช่วยได้มาก.
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
วันที่
1 สิงหาคม 2565