แนวโน้มและทิศทางตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 2023


ในปี 2022 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น โควิดและสงครามการค้ายังคงกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมเร่งลงทุนใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่ายอดสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะทำสถิติใหม่อีกครั้ง และจะรักษาโมเมนตัมนี้ต่อไปอีก

ตัวเลขเบื้องต้นจากสมาคมหุ่นยนต์ญี่ปุ่น (JARA) ประเมินว่า ยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจากค่ายญี่ปุ่นในปี 2022 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1,117,000 ล้านเยน หรือราว 8,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.6% จากปี 2021 ทุบสถิติสูงสุดอีกครั้ง

ยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมปี 2021 รวมทั้งสิ้น 299,035 ตัว เพิ่มขึ้น 42.2% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่ารวม 1,078,600 ล้านเยน หรือราว 8,295 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.6%


อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวมถึงเครื่องจักรกลและเครื่องมือซึ่งถูกจัดให้เป็นสินค้าสำหรับผู้ผลิต (Producer Goods) ที่ได้รับผลกระทบจากแผนการลงทุนเป็นอย่างมาก ทำให้ในช่วงเวลาที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกคาดว่าเศรษฐกิจจะถดถอยเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่าสถานการณ์ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในปี 2023 จะเป็นเช่นไร


ผู้ผลิตรายใหญ่คาด ปี 2023 ตลาดหุ่นยนต์สดใส

นาย Kenji Yamaguchi ประธานบริษัท Fanuc แสดงความเห็นว่า แม้เศรษฐกิจอาจมีการขยับขึ้นลง แต่การลงทุนเครื่องจักรในสายการผลิตก็จะยังคงเดินหน้าต่อ อีกทั้งความต้องการหุ่นยนต์ในตลาดจีนยังขยายตัวได้อีก


M-1000iA” จาก Fanuc ขณะหยิบจับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

นาย Hiroshi Ogasawara ประธานบริษัท Yaskawa เสริมว่า ปัจจุบันบริษัทได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทำให้มี Backlog จำนวนมาก และไม่กังวลว่าจะมีการยกเลิกออร์เดอร์ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก ทำให้บริษัทคาดการณ์ว่าแนวโน้มเช่นนี้เองที่สะท้อนให้เห็นถึงการผลิตที่มั้นคง

นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ยังมีหลายปัจจัยบวก ทั้งจากผู้ผลิตยานยนต์ที่กำลังเข้าสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตจำนวนมากกำลังมุ่งสู่ยุคความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลงทุนใหม่อื่น ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมเหล่านี้เองที่มีส่วนกระตุ้นให้ความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น

โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา ยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของค่ายญี่ปุ่นต่างปิดยอดได้ด้วยดี โดยในสามไตรมาสแรกของปีล้วนแล้วแต่มียอดสั่งซื้อติดอันดับ Top 5 รอบ 10 ปี และคาดว่าปี 2023 จะเป็นอีกปีที่ดีและสามารถทำสถิติใหม่ได้


โคบอทส์ของ Yaskawa ขณะสาธิตการทำงาน

นอกจากนี้ ในเดือนมกราคม 2023 นี้ยังเป็นการครบรอบ 50 ปีสมาคมหุ่นยนต์ญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งทางสมาคมเผยว่าจะทำการประกาศ “วิสัยทัศน์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์” (ชื่อชั่วคราว) เพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในอนาคต

ซึ่งนาย Kenji Yamaguchi ประธานบริษัท Fanuc ได้แสดงความเห็นในฐานะประธานสมาคมว่า หุ่นยนต์เป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนสังคม และจะทุ่มเทให้กับ “Robotics Transformation (RX)” เนื่องในโอกาสนี้ด้วย

ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา ทางสมาคมได้เปิดเผยแนวทางส่วนหนึ่งไว้ในงานสัมมนาว่าเนื้อหาของวิสัยทัศน์นี้จะครอบคลุมทั้งวิสัยทัศน์ทางเทคโนโลยีและทางสังคม

ความคาดหวังต่อหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และแง่มุมทางสังคม

ตัวอย่างหนึ่ง คือ โคบอทส์ (Cobots) ซึ่งปัจจุบัน แม้จะมีการให้คำนิยามชัดเจนว่าเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อทำหน้าที่ร่วมกับมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม แต่โคบอทส์ในปัจจุบันยังห่างไกลจากนิยามนี้ เช่น มีความเร็วต่ำเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านความปลอดภัย, บางรุ่นไม่รองรับการทำงานแบบ Remote Working, มีความล่าช้าในการพัฒนามาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์, และอื่น ๆ นำมาซึ่งความต้องการอุดช่องว่างเหล่านี้ เช่น ความต้องการหุ่นยนต์ที่ตัดสินใจเลือกใช้ความเร็วที่เหมาะสมได้ตามสถานการณ์, การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยในด้านความปลอดภัย, ไปจนถึงความต้องการให้หุ่นยนต์เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรพื้นฐาน

ซึ่งนอกจากอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว ทางสมาคมยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในด้านอื่น ๆ ทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ภัยพิบัติ โครงสร้างพื้นฐานสำหรับสังคมผู้สูงอายุ โรคระบาด และอวกาศ ซึ่งศาสตราจารย์ Hajime Asama จากมหาวิทยาลัยโตเกียว และหนึ่งในคณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของสมาคมฯ แสดงความเห็นว่า หุ่นยนต์จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตหุ่นยนต์และสมาคมที่เกี่ยวข้องย่อมไม่อาจวาดภาพอนาคตของหุ่นยนต์ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ความร่วมมือจากภาครัฐเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งรัฐจะมีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและการบังคับใช้ และอีกฝ่ายที่ต้องให้ความร่วมมือ คือ บริษัทประกันภัย ซึ่งจะมีส่วนในการออกแบบระบบประกันภัยจากหุ่นยนต์เพื่อให้หุ่นยนต์ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น

บริษัท Tokio Marine Holdings เป็นหนึ่งในบริษัทที่ขานรับในประเด็นนี้ และมีแผนเปิดตัวประกันภัยจากหุ่นยนต์ขนส่งสินค้า (Delivery Robot) ในปีงบประมาณที่กำลังจะมาถึง โดยนาย Satoru Komiya ประธานบริษัท กล่าวว่า ในฐานะบริษัทประกันภัย การร่วมมือกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะมีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้า และแสดงความต้องการร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพต่าง ๆ ด้วย และคาดการณ์ว่าหากสามารถนำเสนอการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในสังคมได้ จะทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ญี่ปุ่นมีจุดเด่นท่ามกลางเวทีโลก

การเติบโตของหุ่นยนต์ญี่ปุ่นยังต้องการแผนระยะยาว

“ญี่ปุ่น” เป็นตลาดหุ่นยนต์ที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็น ‘เจ้าตลาดหุ่นยนต์’ ด้วยสัดส่วนการผลิตราว 40% ของหุ่นยนต์ทั่วโลกมาจากสองแบรนด์ดังของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การเติบโตของยุโรป สหรัฐฯ และจีน ทำให้เกิดข้อกังขาว่าญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรต่อไป

ผู้บริหารบริษัทหุ่นยนต์รายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า หุ่นยนต์บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ่นยนต์ทางการแพทย์ และหุ่นยนต์โลจิสติกส์จากผู้ผลิตต่างประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วและมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอย่างมาก แม้แต่ในญี่ปุ่นก็ยังถูกแทนที่ด้วนหุ่นยนต์แบรนด์ต่างชาติเป็นส่วนใหญ่

ผู้เกี่ยวข้องรายหนึ่งคาดการณ์ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งหมายถึงหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะมีมาตรฐานเทียบเท่ากันทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงยกให้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมเป็นสินค้าสำคัญ สนับสนุนการผลิตและเสริมสร้างความมั่นคงของซัพพลายเชนเพื่อรักษาเสถียรภาพและส่วนแบ่งตลาด จึงเป็นที่จับตามองว่า จะมีการสนับสนุนอย่างไรบ้าง อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีแผนระยะยาวอีกด้วย


Nyokkey จากบริษัท Kawasaki Heavy Industries ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามเข้าสู่ตลาดหุ่นยนต์

บริการหลังครองส่วนแบ่งหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไปแล้วถึง 56% (ตัวเลขปี 2020)

 

ที่มา : Mreprot

วันที่ 11 มกราคม 2566


ไฟล์เอกสารแนบ
-
ที่มา : M Report
ข้อมูลวันที่ : 2023-01-12 08:35:21
700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ถ.บางนา-ตราด กม. 57, ต.คลองตำหรุ, อ.เมือง, จ.ชลบุรี 20000
038-215033-39, 033-266040-44
Icon made by Freepik from www.flaticon.com