การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ได้สร้างปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือ Climate Change ซึ่งนำไปสู่สถานการณ์โลกร้อนจนส่งผลเป็นโลกรวน
คือ สภาพอากาศสุดขั้น ร้อนจัด หนาวจัด ฝนมากเกินไป ฝนน้อยเกินไป แน่นอนจะส่งผลต่อการทำการเกษตรซึ่งหมายถึง “การผลิตอาหาร” ในที่สุด
โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม (Thai-German Climate Programme – Agriculture) ได้ประกาศความสำเร็จสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมวิถีการปลูกข้าวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และมาเลเซีย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในส่วนจากภาคการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
“เรามีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือตามโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ภาคเกษตรกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรที่เข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาคเกษตรระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี และเราพร้อมเดินหน้าสนับสนุนพันธมิตรภาคเกษตรของไทยต่อไป”
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในระดับนักวิจัย และปฏิบัติการ ได้มีการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ มาปรับใช้กับวิถีเกษตรในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศโลก
นานา คีนแคล ผู้อำนวยการกลุ่มเกษตรและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน กล่าวว่า ความสำเร็จจากโครงการข้าวลดโลกร้อนนั้น ได้มีการพัฒนาระบบการตรวจวัด รายงานและทวนสอบ (Monitoring, Reporting and Verification: MRV) สำหรับภาคส่วนข้าว ซึ่งสามารถใช้ MRV เพื่อเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้ และกระบวนการวัด และคำนวณ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการปลูกข้าว
ขณะเดียวกันในส่วนภาครัฐ ได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับข้าวยั่งยืน (Thai Agricultural Standard for Sustainable Rice: TAS) ซึ่งได้รวมแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเพื่อให้สอดคล้องเข้ากับมาตรฐานGAP (Good Agricultural Practice ; การปฏิบัติทาง การเกษตรที่ดีในการผลิตพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค ควบคู่ไปกับ ระบบMRV สำหรับภาคส่วนข้าว รวมถึงการพัฒนาปัจจัยการปล่อยมลพิษ ( Emission factors. :EFs) ภายใต้แนวทาง ปฏิบัติทั่วไปและแนวทางการจัดการน้ำทางเลือกเพื่อความยั่งยืน
กฤต อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำลังเตรียมพร้อมก้าวสู่ประเทศความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ.2608 ผ่านการขับเคลื่อนในรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจ หมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
“สำหรับภาคข้าว การเข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ภาคเกษตรในระดับ ปฏิบัติการ เพิ่มผลผลิต และคุณภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต และลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การนำระบบ MRV ไปสู่การปฏิบัติใช้ และสร้างการมีส่วนร่วมในระดับชุมชมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตข้าวคุณภาพสูง ตามมาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการพัฒนา ภาคข้าวไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับการทำนาปลูกข้าวนั้น แม้จะมีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาประเทศเพราะเป็นผลผลิตส่งออกหลักของภาคเกษตรไทย และยังเป็นอาหารหลักหล่อเลี้ยงประชากรไทยจากรุ่น สู่รุ่น อย่างไรก็ตาม รายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 2 (The 2nd Biennial Update Report: SBUR) ระบุว่า ภาคเกษตรไทยโดยเฉพาะวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมที่นิยมให้มีน้ำขังอยู่ในแปลงนาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาก๊าซมีเทนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 55% ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า
โครงการความร่วมมือไทย เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรมได้ดำเนินการมา ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินโครงการ (พ.ศ 2561-2565) มีเกษตรกร และเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนการเกษตรทั้งในส่วนกลาง และในระดับจังหวัดเข้ารับการฝึกอบรมการผลิตข้าวยั่งยืนของโครงการ เป็นจำนวนมากถึง 30,389 ราย ใน 6 จังหวัดนำร่องในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี เพื่อขับเคลื่อนแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนในการผลิตข้าวตามมาตรฐานสากล และการนำเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำมาปรับใช้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 ธันวาคม 2565