เทคโนโลยีสุดล้ำอย่าง ปัญญาประดิษฐ์
(เอไอ) ที่สามารถคิดและวิเคราะห์ได้ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ
หากใช้ผิดทางย่อมนำมาซึ่งผลเสียมหันต์ เช่น มหาวิทยาลัยชั้นนำในออสเตรเลีย
จำต้องเปลี่ยนกลับมาใช้วิธีสอบด้วย “ปากกาและกระดาษ”
หลังพบนักศึกษาทุจริตใช้เอไอเขียนเรียงความแทน
เมื่อไม่นานนี้
มีปรากฏการณ์แชทบอทอัจฉริยะที่พัฒนามาจากปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่เรียกว่า “ChatGPT”
ของบริษัท OpenAI ซึ่งสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก
หลังจากเปิดตัวเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับความสามารถสุดน่าทึ่ง เช่น
สนทนาโต้ตอบในหัวข้ออะไรก็ได้ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยากรู้ ตั้งแต่ประเด็นเชิงประวัติศาสตร์
ปรัชญา ไปจนถึงวิทยาศาสตร์ และทฤษฎีวิชาการต่าง ๆ
ด้วยเหตุนี้
โรงเรียนรัฐหลายแห่งในนิวยอร์กของสหรัฐจึงสั่งห้ามนักเรียนใช้ ChatGPT
ในทุกอุปกรณ์ เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับ
“ผลกระทบเชิงลบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน” และอาจมีการคัดลอกผลงานผู้อื่นด้วย
ล่าสุดในออสเตรเลีย
สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับ ChatGPT และความสามารถของเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึงกัน
ในการเลี่ยงซอฟต์แวร์ตรวจจับการคัดลอกผลงาน
พร้อมกับช่วยนักศึกษาเขียนงานวิชาการได้อย่างรวดเร็วและน่าเชื่อถือเสมือนเขียนด้วยตัวเอง
Group
of Eight หรือกลุ่ม 8
มหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยระดับชั้นนำของออสเตรเลีย ระบุว่า
ได้แก้ไขวิธีสอบวัดผลในปีการศึกษานี้ หลังการถือกำเนิดของเทคโนโลยีแชทบอทอัจฉริยะ
โดยกลับมาใช้วิธีสอบข้อเขียนด้วย “กระดาษ” และ “ปากกา” แทนระบบอิเล็กทรอนิกส์
ดร.แมทธิว
บราวน์ รองประธานบริหารของ Group of Eight เปิดเผยว่า
สถาบันการศึกษาในกลุ่มกำลังจัดการกับเอไอเชิงรุก ผ่านการให้ความรู้กับนักศึกษา
อบรบเจ้าหน้าที่ แก้ไขวิธีสอบใหม่
และใช้กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีที่เฉพาะเจาะจงและระบบตรวจจับการใช้เอไอโกงข้อสอบแบบอื่น
ๆ
“มหาวิทยาลัยในกลุ่มของเราได้แก้ไขวิธีสอบวัดผลในปี
2566 รวมถึงปรับแก้ข้อสอบ จัดสอบด้วยปากกาและกระดาษ เป็นต้น” ดร.บราวน์เสริม
“การออกแบบวิธีสอบวัดผลใหม่มีความสำคัญมาก
และมหาวิทยาลัยในกลุ่มกำลังดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน
เพื่อเอาชนะการพัฒนาของเอไอในยุคนี้”
ด้านมหาวิทยาลัยซิดนีย์ออกนโยบายวิชาการล่าสุดที่กำหนดเจาะจงว่า
“การเขียนเนื้อหาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์” ถือเป็นการทุจริตรูปแบบหนึ่ง
ขณะที่โฆษกมหาวิทยาลัยฯเผยว่า
แม้จนถึงตอนนี้ตรวจพบการทุจริตจากการใช้เอไอเพียงไม่กี่ราย
แต่มหาวิทยาลัยฯก็กำลังเตรียมแก้ไขวิธีสอบวัดผลและปรับปรุงกลยุทธ์ตรวจจับการทุจริต
“เรารู้ว่า
เอไอสามารถช่วยนักศึกษาเรียนรู้
และจะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่เราใช้ทำงานในอนาคต
แต่เราก็จำเป็นต้องสอนให้นักศึกษาตระหนักถึงวิธีใช้เอไออย่างถูกต้องเหมาะสม”
โฆษกมหาวิทยาลัยซิดนีย์ระบุ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 มกราคม 2566