ปีที่ผ่านมาได้มีการเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ๆ
ที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีเอไออันชาญฉลาด
บวกกับความสามารถของมนุษย์ที่พัฒนาให้เทคโนโลยีเหล่านี้เกิดความล้ำหน้าทันสมัย
นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยเข้ามาสร้างความสะดวกสบาย
และยังช่วยขับเคลื่อนทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตของเรา
ขณะเดียวกันการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวและรับมือกับการทำงานของเอไอ
ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน ในบทความนี้
ผมขอชวนคุยเรื่องการปรับตัวในการทำงานและการใช้ชีวิต รวมถึงทักษะที่จำเป็นต้องมีเพื่ออาศัยอยู่ในโลกอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอที่ไม่มีวันหยุดพัฒนา
ด้านการใช้ชีวิต
ที่เราต่างมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีเอไอเพิ่มมากขึ้น
ทำให้เราเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีในหลากหลายกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน
สิ่งแรกที่ต้องมีคือการปรับมุมมอง เปิดใจยอมรับการใช้งานเทคโนโลยีที่มีจุดประสงค์เพื่อเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกกับเรา
และควรทำความเข้าใจกลไกการทำงานของเทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์
แต่ไม่ต้องถึงขั้นเกรงกลัวว่าเอไอจะเข้ามาแทนที่มนุษย์
ตราบใดที่มนุษย์ยังเป็นผู้พัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพียงแค่อย่าหยุดที่จะเรียนรู้เพื่อควบคุมเทคโนโลยีให้ทำงานบรรลุวัตถุประสงค์อย่างเหมาะสมและปลอดภัยโดยไม่เกิดผลร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของเรา
ด้านการทำงาน
ในฐานะทรัพยากรที่ช่วยขับเคลื่อนขององค์กร
ต้องหมั่นหาความรู้และเพิ่มทักษะให้กับตัวเองเพื่อพัฒนาตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอไอที่ไม่หยุดนิ่ง
ทักษะที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกับเอไอประกอบด้วย การสื่อสาร (Communication Skill) ถือเป็นทักษะที่สำคัญเป็นอย่างมากในการใช้สื่อสารในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเข้าหาผู้อื่น การสื่อสารความรู้สึกนึกคิดให้ผู้อื่นเข้าใจ การเจรจาโน้มน้าว การต่อรอง
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการสนทนาหรือข้อตกลง
รวมถึงการรับฟัง การตั้งคำถาม และการสื่อสารด้วยภาษากาย การแสดงอารมณ์ความรู้สึก
หรือท่าทางต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เอไอไม่สามารถทำได้
ถัดมาคือ
การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (Interpersonal Skill) เป็นสิ่งที่เราไม่ควรละเลยที่จะคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อื่น
เพราะสิ่งนี้คือคุณสมบัติที่ไม่มีในเครื่องมือเอไอ ไม่สามารถฝึกฝนและปลูกฝังได้
ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์โดยสิ้นเชิง
เพราะมนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการการยอมรับ ได้รับความเข้าอกเข้าใจ
และการมีส่วนร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
การคิดเชิงวิพากษ์
(Critical
Thinking) คือทักษะการคิดวิเคราะห์ข้อมูล ตัดสินเหตุการณ์
และสิ่งต่างๆ ด้วยวิจารณญาณ จากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนด้วยเหตุผล
ไปจนถึง
การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem-Solving) ที่ครอบคลุมถึงการจัดการและแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เหมาะสมและเป็นระบบตั้งแต่การวิเคราะห์ต้นตอของปัญหา
ปัจจัยและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง
เพื่อเข้าใจบริบทอันซับซ้อนและมองหาความเชื่อมโยงสัมพันธ์
จนเกิดเป็นวิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ถือเป็นทักษะ Soft Skill ที่บริษัทต่างมองหาในตัวพนักงานอยู่เสมอ และทักษะ
สุดท้ายคือ
ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity Skill) เนื่องจากเอไอหรือหุ่นยนต์ไม่มีสมองในส่วนของความคิดสร้างสรรค์
ไม่มีความคิดนอกกรอบ และไม่สามารถสร้างไอเดียใหม่ๆ
ขึ้นมาเองได้หากไม่ได้รับการสอนหรือป้อนข้อมูล
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน
เอไอจะสามารถสร้างผลงานศิลปะ หรือเขียนนิยายได้
แต่ก็ล้วนเกิดจากการป้อนข้อมูลที่มีอยู่โดยมนุษย์ทั้งสิ้น
เราจึงมีความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบผ่านเหตุการณ์ต่างๆ
ในชีวิต ที่แน่นอนว่าแตกต่างและเหนือกว่าเอไอและหุ่นยนต์โดยสิ้นเชิง
ในท้ายที่สุด
การจะผลักดันให้องค์กรเข้าสู่การเป็นองค์กรแห่งเทคโนโลยี
โดยเฉพาะด้านการทำงานของพนักงานร่วมกับเทคโนโลยีและเอไอให้เป็นไปอย่างได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ย่อมเกิดจากทัศนคติอันดีของผู้บริหารที่ได้กำหนดเป้าหมายการทำงาน
การวางโครงสร้างการทำงานที่สมดุลระหว่างพนักงานงานกับเทคโนโลยี
รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ยอมรับ
และเปิดใจในการที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลง
เพราะในอนาคตอันใกล้นี้
อาจมีการเกิดขึ้นของตำแหน่งงานน่าสนใจใหม่ๆ ที่ต้องทำงานควบคู่กับเทคโนโลยี
เพื่อขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน
บุคลากรขององค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องให้ความร่วมมือในการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยเข้ามาเสริมศักยภาพของตนเอง
เพื่อนำไปสู่ความคล่องตัวในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามเป้าหมายอย่างยั่งยืน
ท่ามกลางความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันที่ไม่หยุดรอเรา
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 5 มกราคม 2566