เสริมแกร่งภาคการผลิตอัจฉริยะด้วย Autonomous Mobile Robots (AMRs) ไปกับ AIS 5G


นับตั้งแต่มีการผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยให้เตรียมพร้อมเดินหน้าเข้าสู่ Thailand Industry 4.0 หลาย ๆ องค์กรต่างเริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้นด้วยโซลูชันการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing Solutions) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการผลิต

5G ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีน่าจับตามองจาก AIS Business ที่เข้ามามีบทบาทในการเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตร่วมกับการใช้งาน Autonomous Mobile Robots (AMRs) ด้วยความร่วมมือกับบริษัท เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ จำกัด เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมให้กลายเป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory)

Autonomous Mobile Robots จะพาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ภาคการผลิตอัจฉริยะได้อย่างไร? AIS 5G ร่วมกับบริษัทซอฟต์แวร์ของคนไทยมีโซลูชันใดบ้างที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานร่วมกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อก้าวไปสู่ Thailand Industry 4.0? ร่วมค้นหาคำตอบได้ในบทความนี้


รู้จักกับ AMRs 

Autonomous Mobile Robots หรือ AMRs เป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ ในรูปแบบหุ่นยนต์ฐานเคลื่อนที่ได้, แขนจักรกลที่อยู่บนฐานเคลื่อนที่, หรือการใช้งานผ่าน Mobile application ที่มาพร้อมกับ User Interface แบบปรับแต่ง สามารถทำงานได้หลากหลายรูปแบบผ่านการสั่งงานผ่านเครือข่าย Wi-Fi หรือ 5G

ตามข้อมูลของ International Federation of Robotics (IFR) ได้เผยถึงแนวโน้มคาดการณ์ว่า ในปี 2023 ตลาด AMRs จะเติบโตขึ้นสูงถึง 30% ต่อปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความต้องการการใช้งาน AMRs มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายรูปแบบ โดยในปัจจุบันนี้มีการใช้งาน AMRs ในหลายภาคส่วน อาทิ โลจิสติกส์ การดูแลสุขภาพ การค้าปลีก สถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต

เชื่อมต่อ AMRs สู่ Thailand Industry 4.0

ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ นายกสมาคม Thai Automation and Robotics Association (TARA) ได้อธิบายถึงแนวคิด Thailand Industry 4.0 ที่ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน (Everything Connected) ด้วย Quadra Technology ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นโดยคนไทย ซึ่งเป็นตัวกลางที่ทำให้ระบบทุกอย่างภายในโรงงานสื่อสารและทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ


หากมองภาพรวมของโรงงานที่ใช้ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ จะสามารถแบ่งการทำงานได้ออกเป็นสองส่วน คือ 

· Operational Technology (OT) เป็นส่วนของเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เซ็นเซอร์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรง

· Information Technology (IT) เป็นส่วนของข้อมูลที่ใช้ในการบริหารจัดการ ระบบอัตโนมัติที่ใช้ประมวลผลธุรกิจและ AI รวมไปถึงคลาวด์

การเชื่อมต่อข้อมูลของระบบทุกอย่างทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในส่วน OT และ IT เข้าด้วยกัน ต้องมีมาตรฐานเชื่อมต่อ Interoperability for Industrie 4.0 ซึ่งหนึ่งในมาตรฐานที่มีอยู่ขณะนี้คือ IEC 62541 ที่รับมาจาก OPC Unified Architecture (OPC UA) เพื่อให้เครื่องจักรสื่อสารและส่งต่อข้อมูลถึงกันโดยไม่ติดปัญหาเรื่องอุปกรณ์ต่างชนิด ต่าง PLC ต่างแพลตฟอร์ม และทำให้เกิดเป็นระบบ IIoT ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

หลักการทำงานคือ หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรในหมวด OT จะทำหน้าที่หลักในการผลิต การรับรู้ข้อมูลสถานะการผลิตผ่านเซ็นเซอร์ การส่งข้อมูลขึ้นไปประมวลผลต่อบนคลาวด์ และการรับคำสั่งตอบสนองจากคลาวด์กลับมาควบคุมสายการผลิตแบบอัตโนมัติ

เมื่อคลาวด์ได้รับข้อมูลจากเครื่องจักรมาแล้ว ก็จะรวมข้อมูลต่าง ๆ นำมาแสดงผลให้เห็นถึงสถานะและภาพรวมของการผลิตหรือการทำงานของหุ่นยนต์และเครื่องจักรที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลผลในรูปแบบอื่น ๆ ต่อ ทั้งการใช้ Machine Learning สำหรับคาดการณ์แนวโน้มต่าง ๆ หรือการใช้ AI สำหรับการเรียนรู้วิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบที่ต้องการโดยอัตโนมัติ

หากผลการวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ควรปรับเปลี่ยนการทำงานของสายการผลิต หยุดสายการผลิต หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของหุ่นยนต์ คลาวด์ก็จะสามารถส่งข้อมูลกลับไปยังหุ่นยนต์และเครื่องจักรเหล่านี้ให้ทำตามคำสั่งได้ทันที ส่งผลให้การจัดการกับเครื่องจักรและหุ่นยนต์ในโรงงานเป็นอัตโนมัติมากขึ้นโดยมีการใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลางของทุกการตัดสินใจแบบอัตโนมัติ

Quadra Technology: ซอฟต์แวร์ฝีมือคนไทย

เมื่อกล่าวถึง AMRs สำหรับ Thailand Industry 4.0 แล้ว หลาย ๆ ท่านอาจเข้าใจว่า เป็นการนำเข้าฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทย ทว่าบริษัทในประเทศไทยเองก็มีศักยภาพที่สามารถเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เพื่อรองรับการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ และหนึ่งในโซลูชันที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand Industry 4.0 ก็คือ Quadra Technology นั่นเอง