ดีป้า เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล
ไตรมาส 1 ปี 2565 ปรับตัวลงในทุกองค์ประกอบ หลังได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจโลก
อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และความผันผวนของราคาวัตถุดิบ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าดิจิทัลเพิ่มขึ้น
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์
ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า
แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Sentiment Index) ไตรมาส 1 ประจำปี 2565 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย
ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และ อุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรม ดิจิทัลคอนเทนต์
และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 44.8
ปรับตัวลงจาก 52.5 ในไตรมาส 4 ปีก่อน และปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ
ทั้งด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ
ด้านคำสั่งซื้อ/โครงการที่ได้ทำ/ทำงานร่วมกับพันธมิตร/คู่ค้า ด้านการจ้างงาน
ด้านการลงทุนเพื่อประกอบการ และด้านต้นทุนประกอบการ
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ
ไตรมาสแรกของปี ปรับตัวลงมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่
เนื่องจากภาวะสงความระหว่างประเทศ ส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้น
ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
สายพันธุ์โอมิครอนที่เป็นปัญหาเรื้อรังในทุกไตรมาส
นอกจากนี้ สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศยังไม่ฟื้นตัว
หนี้ครัวเรือน และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น เช่นเดียวกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบเกิดความผันผวน
ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าดิจิทัลสูงขึ้น
และทำให้ผู้ประกอบการดิจิทัลขาดความเชื่อมั่น
เขา กล่าวว่า หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะพบว่า
อุตสาหกรรมย่อยที่มีดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าระดับ 50 ได้แก่
กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 49.7 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล
อยู่ที่ระดับ 45.0 กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 42.9
กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 40.3 และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
อยู่ที่ระดับ 39.3
“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐเพิ่มความชัดเจนในเรื่องของการส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัลสามารถเติบโตในต่างประเทศ
สร้างโอกาสในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ในกลุ่มดิจิทัล
พัฒนานโยบายและมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีคุณภาพ แก้ไขปัญหาได้จริงและต่อเนื่อง
ไม่เน้นปริมาณ พร้อมพัฒนากำลังคนดิจิทัลที่ขาดแคลนให้ถูกจุด
และปรับกระบวนการทางกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า
กล่าว
ที่มา
กรุงเทพธุรกิจ
วันที่
เผยแพร่ 30/5/2565